เบญจภาคีเครื่องราง

 เบญจภาคีเครื่องรางของขลัง


วันนี้เราจะมาพูดถึง
เบญจภาคี เครื่องรางของขลัง นะครับ ในบรรดา เครื่องราง ที่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักสะสมพระเครื่อง เซี่ยนพระ ต่างยอมรับต่ละชนิด ล้วนอยู่ในอันดับหนึ่งทั้งสิ้น ประกอบด้วย

1. ตะกรุดมหาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง


ในบรรดาเครื่องรางของขลัง หรือเบญจภาคีเครื่องรางของแวดวงนักสะสมเครื่องรางของขลังได้ให้การยอมรับและยกย่องให้ “ตะกรุดโสฬสมหามงคล" ของ "หลวงปู่เอี่ยม" วัดสะพานสูง นนทบุรีเป็นอันดับหนึ่ง และหายากที่สุดผู้ใดเป็นเจ้าของมีไว้ครอบครองต่างก็หวงแหนเป็นอย่างยิ่ง
ตะกรุดมหาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี หนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางยอดนิยม แห่งตะกรุดยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีอายุการสร้างเกินกว่า 100 ปี
มีการสร้างด้วยกัน 3 แบบ คือ
1. แบบเนื้อเงิน เป็นของพวกคหบดีนำแผ่นเงินมาให้ท่านลงเป็นพิเศษ สร้างจำนวนน้อยมาก มีความยาวประมาณ 4.5 นิ้ว
2. แบบเนื้อตะกั่ว มักจะเป็นเนื้อตะกั่วทุบ ความยาวประมาณ 4 นิ้ว สร้างในยุคต้นเพื่อหาทุนสร้างศาลาการเปรียญ
3. แบบเนื้อทองแดง ความยาวมีตั้งแต่ 2.5  นิ้ว  3.5 นิ้ว และ 4 นิ้ว ขนาดที่อยู่ในความนิยมนั้นยาวประมาณ 3.5 นิ้ว โดยจะเป็นการทุบแล้วรีด เป็นเนื้อทองแดงแก่ฝาบาตร แก่ทองเหลือง 


2. เบี้ยเเก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง


เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดส่วนใหญ่ จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้น ส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน ยางมะพลับหรือรักที่ลงนั้นจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำอมแดงไม่ดำสนิททีเดียว มีผู้ถามกันมามากมายว่า "เบี้ยแก้" คืออะไร และใช้ทำอะไร แต่ที่ยากกว่านั้น ก็คือ ดูยังไงจึงจะได้ของแท้ ? ซึ่งในความจริงแล้ว เบี้ย ก็คือ เปลือกหอยทะเลประเภทหนึ่ง ซึ่งพ่อค้าชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียนิยมนำมาใช้แทนเงินตราสมัยโบราณ นัยว่า มีความสวยงาม หายาก และคงทน ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในบ้านเรา พ่อค้าจะนำมาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ (Maldives) อันเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ ซึ่งเกิดจากแนวปะการังอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ตอนปลายๆ ของคาบสมุทรอินเดีย
การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดวัดนายโรง ขั้นแรกจะต้องคัดตัวหอยเบี้ยที่มีฟัน 32 ซี่ ตามอาการทั้ง 32 ของมนุษย์จากนั้นตั้งศาลเพียงตา พร้อมเครื่องสังเวยบัดพลีเพื่อขอแบ่งปรอทจากวิทยาธรคนธรรพ์ ในอากาศ จากนั้นนําใบหญ้าคาลงพาดที่ปากเบี้ยปรอทก็จะมาจากในอากาศมีลักษณะเป็นเม็ดและจะวิ่งเข้าตัวเบี้ย 32 ตัวตามจํานวนฟันของเบี้ยแก้เมื่อปรอทเต็มก็จะกลายเป็นหนึ่งธาตุขันธ์ จากนั้นจึงนําแผ่นตะกั่วมาหุ้มปิดกันปรอทวิ่งออกจากตัวเบี้ย การหุ้มตะกั่วที่ตัวเบี้ยของหลวงปู่รอดนั้น จะหุ้มปิดปากเบี้ยและเปิดช่วงหลังเบี้ยไว้ บางตัวก็หุ้มปิดทั้งตัวเบี้ยก็มี และยังพบว่ายังมีที่ใช้ชันนะโรงไต้ดินอุดปิดปรอท หรือแม้กระทั้งใช้ผ้ายันต์ก็มีพบเช่นกัน จากนั้นหลวงปู่รอดท่านจะลงอักขระที่ตัวเบี้ยด้วยพระคาถาพระเจ้า 16 พระองค์และกํากับด้วยยันต์ตีนิสิงเห แล้วจึงปลุกเสกอีกครั้งก่อนที่จะมอบให้แก้ศิษย์ต่อไป (อ่านเรื่องราวการทำ เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด ได้ที่ : เปิดประวัติ "เบี้ยแก้" สุดยอดของขลังศักดิ์สิทธิ์ จาก "หลวงปู่รอด วัดนายโรง" พุทธคุณเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี แคล้วคลาดคงกระพัน)

3. มีดหมอหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ


หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ พระเกจิผู้มีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งของ จ.นครสวรรค์ ได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” ที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ในสมัยที่หลวงพ่อเดิมท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ลูกศิษย์หลายอย่าง เช่น เหรียญรูปท่าน พระรูปเหมือน งาแกะรูปสิงห์ นางกวักต่างๆ ตะกรุด ผ้ายันต์ วัตถุมงคลของท่านมีมากมายหลายรุ่น ซึ่งล้วนปรากฏความเข้มขลังเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะมีดหมอ  หลวงพ่อเดิมท่านได้ศึกษา วิชามีดหมอ มาจากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์ ต่อมาท่านก็ได้สร้างมีดหมอขึ้นมา และการสร้างมีดในยุคแรกนั้นท่านก็ได้สร้างมีดเล่มใหญ่ให้แก่ควาญช้างของท่าน ซึ่งมีขนาดทั้งด้ามทั้งฝักยาวประมาณหนึ่งศอก ในสมัยต่อมามักเรียกกันว่า มีดควาญช้างหลวงพ่อเดิม ต่อมาท่านก็ได้ทำมีดให้มีขนาดเล็กลง ขนาดพอพกได้พอดีจนมาถึงมีดขนาดเล็ก พกใส่กระเป๋าเสื้อได้ในที่สุด      
มีด หมอ" ของหลวงพ่อเดิมนั้นมีองค์ประกอบคือ ด้ามจะทำจากไม้และงาช้าง, ฝักมีดทำจากไม้และงาช้าง รัดด้วยแหวนคาดฝักทำจากเงิน และมีแบบ "สามกษัตริย์" คือทำด้วยทองคำ เงิน และนาก, ใบมีดและกั่นมีด, แผ่นประกับกั่นมีด 2 แผ่นเป็นเงินและนาก สุดท้ายคือตะกรุด
พุทธคุณมีดหมอหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นั้นดีในทุกๆ เรื่อง เช่น เป็นมหาอุดอยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ป้องกันเขี้ยวงา ป้องกันคุณไสย การกระทำย่ำยี ป้องกันภูตผีปีศาจร้ายได้ มีผู้เคยมีประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มามากมาย วิธีอาราธนามีดหมอของหลวงพ่อเดิมเวลาจะไปไหนมาไหนให้ระลึกถึงหลวงพ่อเดิมแล้วว่า "พระพุทธังรักษา พระธรรมมังรักษา พระสังฆังรักษา ศัตรูมาบีฑาวินาศสันติ" เท่านี้ก็พอครับ ส่วน คาถากำกับมีดหมอของหลวงพ่อเดิม นั้นมีดังนี้" สักกัสสะ วชิราวุทธัง เวสสุวันนะสะคะธาวุทธัง อาฬาวะกะธุสาวุทธัง ยะมะสะนัยนาวุทธัง ณารายยะสะจักกะราวุทธัง ปัญจะอาวุทธานัง เอเตสังอานุภาเวนะ ปัญจะอาวุทธานัง ภัคคะภัคขา วิจุณนัง วิจุณนาโลมังมาเมนะ พุทธะสันติ คัจฉะอะมุทหิ โอกาเสติฐาหิ"

4. เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (คลองด่าน)


 กิตติศัพท์เรื่อง “เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน” นั้น เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว อาทิ เมื่อครั้งมีการสร้างเขื่อนพระยาไชยานุชิต ที่คลองด่าน เพื่อกั้นกระแสน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน แต่กรมชลประทานไม่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จสักที เพราะกระแสน้ำแรงมากและตีขึ้นมาตลอด หลวงพ่อปานเห็นแก่การขจัดความเดือดร้อนของผู้คน จึงทำการเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่ากระแสน้ำลดกำลังลงอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถกั้นสร้างเขื่อนได้สำเร็จ
เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จะต้องทำจากเขี้ยวเสืออย่างเดียวเท่านั้น จะไม่ใช้เขี้ยวชนิดอื่นๆ จะมีทั้งเต็มเขี้ยวและเขี้ยวซีก มีคุณสมบัติทึบแสง เขี้ยวเสือต้องกลวง เขี้ยวเสือกลวงจะมีอำนาจ ในตัวมาก บางท่านเรียกเขี้ยวโปร่งฟ้า เป็นเขี้ยวของพญาเสือโคร่ง มีอำนาจมาก มีตบะมาก แค่จ้องสัตว์อื่น สัตว์อื่นจะเหมือนถูกตรึงอยู่กับที่

5. หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน



หลวงพ่อสุ่น เริ่มสร้างหนุมานในสมัยที่ท่านยังเป็นพระลูกวัดอยู่ ท่านได้นำต้นไม้ 2 ชนิด คือต้น พุดซ้อน และต้นรักซ้อน มาปลูกภายในวัดของท่าน ทุกวัน หลวงพ่อสุ่นจะนำน้ำมนต์มารดน้ำต้นไม้ทั้งสองจนเจริญเติบโตและแก่เต็มที่แล้วหลวงพ่อสุ่นจะดูฤกษ์ยาม แล้วขุดนำต้นไม้ทั้งสองมาตากแดดให้แห้ง แล้วไปตามช่างมาแกะเป็นรูปหนุมาน เมื่อได้จำนวนที่เพียงพอตามต้องการแล้ว ท่านจะนำหนุมานบรรจุไว้ในบาตร หลวงพ่อสุ่นจะนำหนุมานมาปลุกเสกในอุโบสถ ทุกวันเสาร์ โดยจะให้มัคทายก หรือพระลูกวัดนำศาสตราวุธต่าง ๆ เช่น ปืน มีด หอก ดาบ อื่น ๆ นำมากองรวมกัน แล้วหลวงพ่อสุ่นจะนั่งทับศาสตราวุธเหล่านั้น ทำการปลุกเสกหนุมานเหล่านั้น ว่ากันว่า หนุมานที่หลวงพ่อสุ่นกำลังปลุกเสกจะกระโดดโลดเต้นอยู่ภายในบาตร หลวงพ่อสุ่นปลุกเสกอยู่นานมากจนได้ที่แล้ว หลวงพ่อก็แจกจ่ายให้แก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินปฏิสังขรณ์วัดศาลากุน

หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์

                -    พิมพ์หน้าโขน ช่างจะแกะในลักษณะนั่งยอง ๆ ชันเข่า มือกุมเข่าทั้งสองข้าง และแกะใบหน้าหนุมานในลักษณะอ้าปากแยกเขี้ยว และแกะรายละเอียดทั่วไปในแบบทรงเครื่อง แกะได้ละเอียดและดุดัน พิมพ์หน้าโขนจะเป็นพิมพ์นิยมที่สุด และหายากมาก ๆ

                -    พิมพ์หน้ากระบี่ ช่างจะแกะในลักษณะนั่งยอง ๆ ชันเข่า มือกุมเข่าทั้งสองข้างเช่นกัน แต่ช่างจะแกะแบบเรียบง่ายไม่ได้มีรายละเอียดมากนัก

                ภายหลังเมื่อไม้ทั้งสองชนิดหมดลงก็มีการนำงาช้างมาแกะและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน แต่เนื้องามีจำนวนไม่มากนัก

พุทธคุณของหนุมาน หลวงพ่อสุ่น

                จะโดดเด่นทางด้านมหาอำนาจ คงกระพันมหาอุด และเมตตามหานิยม มีครบแทบทุกอย่างเลยก็ว่าได้ สุดยอดจริง ๆ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น