พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักชุดเบญจภาคี

พระปิดตา เข้าใจกันว่า มาจากคติการสร้างพระเครื่องของเขมร เผยแพร่เข้าสู่การสร้างพระเครื่องไทย เท่าที่ค้นได้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อกันว่าพระปิดตาน่าจะหมายแทนถึง พระอรหันต์อาวุโสองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า "พระควัมปติเถระ"
พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักชุดเบญจภาคีที่นักเลงพระจัดลำดับกันไว้นั้น มีดังนี้:
1.พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์





ในกระบวนพระปิดตาของพระเกจิอาจารย์แต่โบร่ำโบราณที่ขึ้นชื่อลือเลื่องจากหลายๆ สำนัก พระปิดตาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสุดยอดของพระปิดตาด้วยกันก็คือ "พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์" ซึ่งน่าจะคุ้นหูท่านผู้อ่าน แต่จะคุ้นหน้าคุ้นตาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มาทำความรู้จักกันครับผม

ผู้สร้าง "พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว" ก็คือ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี อัตโนประวัติโดยย่อของหลวงพ่อแก้ว ท่านถือกำเนิดจากครอบครัวชาวประมงจังหวัดเพชรบุรี ในราวปลายรัชกาลที่ 2 บางตำราก็ระบุว่า ท่านเป็นคนบ้านบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระทรง จ.เพชรบุรี ก่อนที่จะธุดงค์ไปบูรณะวัดเครือวัลย์ แขวงบางปลาสร้อย จ.ชลบุรี ซึ่งที่นั่นเองเป็นจุดกำเนิดของสุดยอดพระปิดตาอันดับหนึ่งของประเทศไทย

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรักหรือจุ่มรัก นับเป็นราชาแห่งพระปิดตาเนื้อผง สูงด้วยความนิยมและมูลค่า โดยเฉพาะคำร่ำลือทางด้านมหาเสน่ห์ และเมตตามหานิยม มีเรื่องเล่าขานสืบทอดกันมาว่า ในการจัดสร้างพระปิดตาของหลวงพ่อนั้น มีเศษผงที่เหลือจากการจัดสร้างปลิวไปตกในตุ่มน้ำ สาวแก่แม่ม่ายที่วักน้ำลูบเนื้อตัวเป็นอันต้องมนต์ลุ่มหลงเกิดเสน่หาถ้วนทั่วทุกตัวตน

จนมีผู้พยายามขูดเนื้อขององค์พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เพื่อนำไปใช้ล่อหลอกหญิงสาวจนเกิดเรื่องราวกันมาแล้วมากมาย หลวงพ่อแก้วท่านจึงดำริให้นำพระมาจุ่มรักหรือคลุกรักเสีย เพื่อมิให้ผู้ใดขูดนำไปใช้ในทางมิชอบ
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ 1) พิมพ์ใหญ่ ให้สังเกตจะเห็นกำไลข้อพระบาทและส้นพระบาท พระนาภีจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย พิมพ์ด้านหลัง มีทั้งหลังแบบ คือ ด้านหลังเป็นรูปองค์พระเหมือนด้านหน้ากดเว้าลึกลงไป พระเศียรด้านหลังที่เว้าลึกจะไม่ลึกมาก และจะรีคล้ายไข่เป็ด สำหรับองค์ที่ติดชัดจะเห็นนิ้วขึ้นเป็นไรๆ บริเวณพระหัตถ์ทั้งสองข้าง หลังเรียบ และหลังยันต์ (อุทับถม) ซึ่งพบน้อยมาก 2) พิมพ์กลาง หลังแบบ หลังเรียบ หลังยันต์ และ 3) พิมพ์เล็ก

เนื้อของพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว ส่วนมากจะพบเป็นเนื้อละเอียด และมักปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง ซึ่งเกิดจาก "ว่าน" ขึ้นประปราย ถ้าหากลึกเนื้อในจะละเอียดเป็นสีน้ำตาลอมดำ คนโบราณเรียกหลวงพ่อแก้วเนื้อกะลา เพราะจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ คล้ายกะลาเก่าขัดมัน บางองค์มีการปิดทอง ซึ่งต้องพิจารณาทองเก่าให้เป็น เพราะทองเก่าเนื้อจะออกสีแดงอมเหลืองและด้าน ไม่เหมือนกับทองใหม่ซึ่งจะเป็นมันวาว

2.พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง
  



หลักการดูพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

  1. เป็นพระเนื้อผงคลุกรัก สร้างประมาณปี พ.ศ. 24100 พิมพ์ที่นิยมกันพอจะแยกได้เป็น "พิมพ์ธรรมดา" "พิมพ์ชลูด" และ พิมพ์ที่ประกบกันเป็นสองหน้า
  2. ลักษณะขนาดทรงพิมพ์แบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และ พิมพ์เล็ก ส่วนมากด้านข้างจะมีตะเข็บ ซึ่งมักจะปริหรือแตกกะเทาะด้วยกาลเวลา
  3. เนื้อผงคลุกรักนี้เมื่อสร้างและพิมพ์เป็นองค์พระแล้ว ยังทาด้วยรักสีดำหรือรักน้ำเกลี้ยงผสมชาดแดงไว้ด้วยทั้งหน้าและหลัง ดังนั้นผิวจะมีเม็ดแดงๆอยู่ทั่วไป บางองค์มีปิดทองไว้ด้วย
3.พระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด

   เมืองแปดริ้ว(จังหวัดฉะเชิงเทรา)เป็นเมืองที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือกัน ทั่วประเทศคือหลวงพ่อพระพุทธโสธร และเมืองนี้ก็ยังมีพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่ในสมัยอดีตหลายองค์ พระเกจิอาจารย์ที่อาวุโสมากและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักอันลือลั่น สุดยอดแห่งพระปิดตาเมตตามหานิยม และหายากมากในปัจจุบัน ประวัติของหลวงปู่จีนและประวัติวัดไม่มีผู้ใดได้บันทึกไว้เพียงมีการบอกเล่า สืบต่อกันมาเท่านั้น การสืบค้นจึงทำได้ยากมาก ต้องสอบถามและเก็บข้อมูลจากหลายๆ ที่และประมวลไว้ ตามที่ได้สืบค้นพอจะจับเค้าโครงได้ก็มีดังนี้

วัดท่าลาดเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดท่าลาดเหนือนี้สร้างโดยพระยาเขมรที่อพยพมาจากพระตะบองได้เป็นผู้สร้างไว้ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2395 เมื่อสร้างวัดเสร็จได้ประมาณปีเศษๆ ก็ได้มีพระธุดงค์ผ่านมาด้วยกัน 3 องค์ ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติแล้วก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้นิมนต์ทั้ง 3 องค์ ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดท่าลาด ต่อมาอีกระยะหนึ่งพระอีก 2 องค์จึงได้ออกธุดงค์ต่อลงมาทางใต้

ประวัติหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ
พระที่อยู่จำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสของวัดนี้ก็คือหลวงปู่จีน ส่วนประวัติความเป็นมาของท่านในสมัยนั้นไม่มีผู้ใดบันทึกไว้เลย เพียงแต่เล่าสืบต่อกันมาจากผู้ที่เกิดทันได้พบหลวงปู่จีนเท่านั้น จากการสืบค้นดูสันนิษฐานว่าท่านคงเกิดในราวปี พ.ศ. 2357 และมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าลาด ในราวปี พ.ศ. 2497 หลวงปู่จีนเป็นพระที่เมตตาธรรมสูง มีความรู้ในด้านวิปัสสนาธุระเป็นอย่างดี ได้สั่งสอนอบรมลูกศิษย์ พระเณรอยู่เสมอๆ และหลวงปู่จีนท่านยังเก่งกล้าในด้านพุทธาคม อีกทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณก็เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ท่านได้ช่วยเหลือชาวบ้านในแถบนั้นอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาโรคภัย ไข้เจ็บ และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกๆ ด้าน ท่านก็ได้ช่วยปัดเป่าให้ทุเลาหายได้ทุกรายไป หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธามากในย่านนั้น และกิตติคุณของท่านก็ล่วงรู้กันไปทั่วทั้งแปดริ้วและจังหวัดใกล้เคียงจึงทำ ให้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ต่างหลั่งไหลไปสู่วัดท่าลาดเหนือไม่ขาดสาย หลวงปู่จีนท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดท่าลาดเหนือสืบจนถึงราวปี พ.ศ. 2440 โดยประมาณท่านก็มรณภาพลงที่วัดท่าลาดเหนือนั่นเอง สิริอายุได้ราว 83 ปี

ส่วนพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักที่ หลวงปู่จีนท่านได้สร้างไว้ สันนิษฐานว่า หลวงปู่จีนท่านได้สร้างไว้ในราวปี พ.ศ. 2430 โดยสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณผสมว่านวิเศษต่างๆ และนำมาคลุกรักเพื่อเป็นตัวประสาน นำมากดแม่พิมพ์พระปิดตา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์เช่น พิมพ์แข้งหมอน พิมพ์เม็ดกระบก พิมพ์กลีบบัวใหญ่ พิมพ์กลีบบัวเล็ก พิมพ์เม็ดบัว พิมพ์ไม้ค้ำเกวียน เป็นต้น พระปิดตาของท่านส่วนใหญ่ด้านหลังมักจะอูมเป็นแบบหลังเบี้ยหรือหลังประทุนแทบ ทุกองค์ และพระของท่านส่วนใหญ่จะมีการลงรักทับไว้อีกชั้นหนึ่ง พระปิดตาหลวงปู่จีนของท่านนั้นมีการสร้างด้วยกันหลายครั้ง จำนวนครั้งละไม่มากนัก เนื่องจากกรรมวิธีการสร้างนั้นทำได้ยากมาก จึงทำให้ในปัจจุบันหาพระปิดตาของท่านแท้ๆ ยากครับ สนนราคาก็สูงมากตามไปด้วย

พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของหลวงปู่จีนนับเป็นต้นกำเนิดพระปิดตาของเมือง แปดริ้วเลยทีเดียว เนื่องจากลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็ได้พระปิดตาตามแบบองค์อาจารย์อีกหลายองค์ ด้วยกันครับ วันนี้ผมได้นำรูปพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ พิมพ์เม็ดกระบกมาให้ท่านได้ชมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังครับ

4.พระปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดชิงเลน



วัดเชิงเลน ปัจจุบันชื่อวัดบพิตรพิมุข จักรวรรดิ กรุงเทพ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาปลาย ต่อมา กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ได้สถาปนาขึ้นใหม่และเมื่อถึงสมัยในกลางรัชกาลที่ 3 ก็ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งที่พระอารามแห่งนี้ เป็นต้นกำเนิดของพระปิดตาที่หลวงปู่ไข่เป็นผู้ให้กำเนิดไว้ซึ่งเดี๋ยวนี้ถือว่าเป็นสุดยอดของดีที่หายากยิ่งทีเดียว หลวงปู่ไข่หรือหนึ่งในห้าของผู้ยิ่งยงในอาคมขลังของภาคตะวันออกซึ่งเป็น ศิษย์ของหลวงปู่จีนแห่งวัดท่าลาดเหนือ ฉะเชิงเทรา ที่สร้างพระปิดตาเนื้อผงสีน้ำตาลเหมือนเช่นพระอาจารย์ปฏิบัติไว้แต่พระปิดตาหลวงปู่ไข่กลับมาดังที่กรุงเทพอย่างคาดไม่ถึง

หลวงปู่ไข่เป็นชาวแปดริ้วแต่กำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2400 ณ
บ้านประตูน้ำท่าไข่ อ. เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อท่านอายุครบบวชก็ได้ทำการอุปสมบทร่ำเรียนพระธรรมวินัยอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจากนั้นก็ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่จีน ที่วัดท่าลาดเหนือ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ก็เพราะหลวงปู่ไข่ท่านชอบเรื่องไสยเวทเป็นเดิมพันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมาได้หลวงปู่จีนผู้เรืองวิทยาด้านนี้โดยเฉพาะเข้าท่านก็ตั้งใจหมั่นศึกษาจนเชี่ยวชาญไม่น้อยหน้าศิษย์ผู้พี่ เช่น หลวงพ่อแก้ว หลวงพ่อปาน หลวงพ่อโต และหลวงพ่อเจียม นั้นเลย

หลวงปู่ไข่นับว่าเป็นพระผู้ไม่ชอบจำพรรษาอยู่ในพระอารามนานๆ จะว่าท่านร้อนวิชาก็ไม่เชิง ดังนั้นไม่นานนักท่านก็ได้อำลาพระอาจารย์ออกธุดงค์สู่ป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาวิชาและวิทยาคมเรื่อยไป เมื่อถึง พ.ศ. 2445 ท่านได้มุ่งเข้าสู่เมืองหลวงและได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดเชิงเลน ตั้งแต่นั้นมา และที่วัดเชิงเลนนี้เองเพียงชั่วระยะเวลา 7-8 ปีให้หลัง กุฏิ
หลวงปู่ไข่ก็เนืองแน่นไปด้วยชาวบ้านที่เลื่อมใสในองค์ท่านรวมทั้งบรรดาสานุศิษย์อีกจำนวนไม่ใช่น้อยก็มักจะไปมาหาสู่ท่านโดยมได้ขาด จนถึง พ.ศ. 2460 นั่นเองวัตถุมงคลบางชนิดก็ออกสู่สายตาผู้ไปเยือนท่านเป็นครั้งแรก ระยะนั้นต่างก็พูดกันว่าท่านทำพระไปแจกไป และมักจะเปลี่ยนแบบสร้างเป็นเล็กบ้างใหญ่บ้าง ซึ่งทำอย่างมากก็ไม่เกิน 30 องค์ โดยถือหลักว่า หมดแล้วทำใหม่

หลวงปู่ไข่ได้มรณะภาพ เมื่อ พ.ศ. 2474 เขาว่าก่อนมรณภาพท่านรู้ตัวก่อนแล้วจึงนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิของท่านอย่างไม่หวั่นไหว

พุทธลักษณะพระปิดตาหลวงปู่ไข่ เป็นพระเนื้อหยาบแก่ว่าน น่าจะมีการลงรัก และคลุกรักด้วย เนื้อพระจะออกสีน้ำตาลเข้ม สร้างเป็นองค์ภควัมบดีและปิดตาอย่างเดียว ลักษณะเป็นการประทับนั่งหรือทรงของพิมพ์จะสูงชลูด พระกรด้านขวาจะยกขึ้น ปลายข้อศอกจะสูงกว่าด้านซ้าย พระเพลาเป็นปล้องๆ เหมือนนั่งพับเพียบ นับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่มีใครเหมือน และขอย้ำไว้อีกครั้งว่าลักษณะรูปทรงขององค์ท่านจะทรงไว้เป็นแบบเดียวกันแต่จะต่างกันอยู่ตรงปีกขององค์พระเท่านั้น ด้านหลังอูมนูน บางองค์มีการจารด้านหลัง และบางองค์ก็ปิดทองอย่างสวยงาม แบ่งได้เป็น 3 พิมพ์ คือ

• พิมพ์ใหญ่ มีขนาดเท่ากับไข่ไก่แจ้ผ่าซีก มีจำนวนน้อยมาก
• พิมพ์กลาง พบมากที่สุด
• พิมพ์เล็ก

5.พระปิดตาหลวงปู่ภู่ วัดนอก ชลบุรี



หลวงปู่ภู่ วัดนอก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ถือว่าเป็นพระภิกษุร่วมสมัยกับหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี ท่านเป็นคนเพชรบุรี เช่นเดียวกับหลวงพ่อแก้ว ธุดงค์มาเมืองชลบุรี พร้อมกับหลวงพ่อแก้ว ในหนังสือบางท่านเขียนว่าท่านเกิดประมาณ พ.ศ. 2350 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 1 จึงนับว่าเป็นพระภิกษุรุ่นโบราณรูปหนึ่ง


ท่านมรณภาพประมาณ พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2441 อายุประมาณ 80 ปี

พระปิดตา
ไม่แน่ชัดว่าหลวงปู่ภู่สร้างพระเนื้อผงขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่เป็นพระปิดตาเนื้อผงมีอายุสมัยเดียวกับพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เนื่องจากท่านทั้งสอง ทั้งหลวงปู่ภู่ และหลวงพ่อแก้ว มีความสนิทสนมกัน วิธีการสร้างพระคงจะคล้ายกัน คือเป็นพระเนื้อผงสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลเข้ม มีทั้งเนื้อละเอียด เนื้อผงใบลานสีดำ เนื้อผงคลุกรักและจุ่มรัก สังเกตดูพระปิดตาเนื้อผงของเมืองชลบุรีมีเนื้อหาคล้ายๆ กันทุกสำนัก


พิมพ์ทรง
ด้านหน้า

พระปิดตา พิมพ์เศียรตัด

พระปิดตา พิมพ์เศียรมน

พระปิดตา พิมพ์ปิดท้อง

ด้านหลัง

มียันต์อุใหญ่ ยันต์อุเล็ก และหลังเรียบ (ไม่มียันต์)


เนื้อ

เนื้อผงคลุกรักและจุ่มรัก สีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลเข้ม มีคราบรักตามซอก


ค่านิยม

ถือว่าเป็นพระปิดตาเนื้อผงมีพระพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม เช่นเดียวกับพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ และเป็นพระยอดนิยมอันดับสองของจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันหาได้ยากมากแม้มีเงินก็อาจหาเช่าไม่ได้