อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป




อานิสงส์การหล่อ/สร้างพระพุทธรูป

ถาม-การหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปมีอานิสงส์(บุญกุศล)มากน้อยแค่ไหนคะ?

ตอบ-

1)สร้างพระ 1 องค์ ได้อานิสงส์ 5 กัป(หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ)....ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สร้างด้วยอะไรก็ตาม หมายความว่าบุญกุศลจะตามหนุนส่งท่านไปทุกภพทุกชาตินานถึง 5 กัป........

2)หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวว่า"การสร้างสมเด็จองค์ปฐมทำได้ยาก คือ ว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต้นพระพุทธเจ้าทั้งหมด การสร้างองค์ปฐมนี้ ท่านเปลี่ยนบัญชีใหม่ โดยใช้บัญชีสีทอง เป็นทองคำล้วนทั้งเล่ม จดบันทึก(เป็นอีกเล่มหนึ่งจากที่จดธรรมดา) ก็แสดงว่า คนที่จะสร้างพระพุทธเจ้าองค์ปฐมได้นี้ ต้องเป็นคนมีบุญมาก และไปนิพพานได้เร็วมาก" เพราะบัญชีสีทอง หลวงพ่อฯบอกว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องโมทนาหมด......

3)ผู้ใดสร้างรูปพระพุทธเจ้า จะเป็นองค์เล็กเท่าต้นคาก็ดี ใหญ่กว่าต้นคาก็ดี ผู้นั้นจะได้เป็นพรหม เป็นอินทร์ หมื่นชาติแสนชาติ ถ้าเป็นมนุษย์ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหมื่นชาติ แสนชาติ จะไม่เป็นผู้ตกต่ำเลย ตราบจนกว่าเข้าสู่นิพพาน(หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว)......

4)การสร้างพระ เปรียบได้กับธนาคารบุญ ซึ่งจะเกิดบุญกุศลกับผู้ที่มีส่วนในการสร้าง โดยบุญกุศลนั้น จะเกิดขึ้นทุกครั้ง ที่มีผู้มากราบไหว้ สักการะบูชา เท่ากับจำนวนคน และจำนวนครั้ง (หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา).......

5)การที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้เกิดศรัทธา จนถึงสละเงินออกมาสร้างพระพุทธรูปได้ และออกมาทำทาน ในงานฉลองพระพุทธรูปได้ ชื่อว่าเป็นผู้มี"ความเห็นตรง เห็นถูกแท้" เพราะเป็นบุญของตนเอง ไม่ใช่บุญของใครเลย ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่า เป็นผู้ได้เตรียมตัวก่อนตาย(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)

6)ถวายสังฆทาน 100 ครั้ง อานิสงส์ไม่เท่ากับถวายวิหารทาน 1 ครั้ง......

----------------------------------------------------------------------



การสร้างพระ - หลวงปู่ดู่

หลวงปู่เคยเล่าให้ศิษย์ฟังอยู่เสมอว่า การสร้างพระพุทธรูปนั้น จะมีอานิสงส์มาก แม้จะองค์เล็กเท่าต้นหญ้าคา ก็จะมีอานิสงส์ถึง 5 กัป หลวงปู่ยกตัวอย่างเช่น คนที่สร้างหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อไร่ขิง ตอนนี้เขาเหล่านั้นยังเป็นเทพบุตรเทพธิดา และพรหมในชั้นต่าง ๆ เสวยความสุขอย่างไม่มีจบสิ้น เพราะผลบุญที่ได้นี้มันต่อเนื่อง เมื่อมีคนไปกราบไปไหว้หลวงพ่อที่หนึ่ง สายบุญเหล่านั้นก็จะไหลไปยังเทพบุตรเทพธิดาอย่างต่อเนื่องเหมือนสายน้ำตก แกก็ลองนึกดูเถิดว่าวัน ๆ หนึ่งมีคนไปกราบหลวงพ่อเหล่านั้นมากเพียงไร ลูกศิษย์หลวงปู่เป็นส่วนมากจึงชอบสร้างพระเพราะหลวงปู่ไม่ได้กำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ผูกขาดในการสร้างของท่าน คณะใดกลุ่มใดมีศรัทธาจะสร้างเพื่อเป็นกุศลต่อตนเองและส่วนรวม หลวงปู่ก็จะอนุญาตอยู่เสมอและหลวงปู่จะอนุโมทนาต่อเขาเหล่านั้นเป็นอย่างดี

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์นั่งรวมกันอยู่ 10 กว่าคน มีคนหนึ่งพูดว่า พระขาวท่านนั่งตากแดดตากฝนมานานแล้ว พวกเขาควรสร้างศาลาครอบพระขาวไว้เพื่อเป็นมหากุศล บ้างก็ว่าจะทอดพระป่าสร้างสิ่งต่าง ๆ มาทำบุญ แต่ในคนเหล่านั้นมีคุณช้าง ราชดำเนิน ได้กราบหลวงปู่ และได้บอกหลวงปู่ดู่ว่า กระผมจะสร้างพระชุดหนึ่ง เพื่อนำเงินมาสร้างศาลาครอบพระขาว หลวงปู่จึงอนุโมทนาบุญด้วย และบอกว่ามีแผ่นชนวนอยู่ตรงนี้ที่ต้นเสาข้าง ๆ หลวงปู่ จำนวน 4,800 แผ่นซึ่งหลวงปู่ปลุกเสกไว้นานหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นของป้าสอิ้ง ที่จะนำไปสร้างพระแตกแต่ยังไม่นำไปสร้างซะที หลวงปู่บอกว่า ตาช้างเอาไปก่อน แล้วค่อยหาแผ่นใหม่มาใช้ให้ยายสอิ้ง ซึ่งยายสอิ้งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ยายสอิ้งจึงอนุโมทนากํบคุณช้างด้วยเลย

การสร้างพระกริ่งนี้ เป็นพระกริ่งรุ่นแรกของหลวงปู่ ๆ เมตตาเป็นพิเศษ ให้ฤกษ์เทพระกริ่งด้วยตนเองโดยให้ฤกษ์ว่า เริ่มเทได้ด้วยวันเพ็ญเดือน 12 เวลาย่ำรุ่งตอนพระออกบิณฑบาตร การสร้างพระกริ่งในครั้งนั้น คุณช้าง ราชดำเนิน ได้ให้ช่างที่มีฝีมือดี แกะพระกริ่งเป็นหน้าเชียงแสน ลำตัวอ้วนและแข็งแรงดูแล้วเข้มขลังเป็นอย่างมากสร้างพระชัยอีก 1 องค์ หล่อแบบโบราณโดยการเทในวัดรวกสุทธาราม เมื่อหล่อเสร็จสิ้นแล้ว จึงนำไปให้หลวงปู่อุดใต้ฐานพระด้วยผงกัมมฐานมหาจักรพรรดิ์ และเกศาของหลวงปู่ ปิดกั้นด้วยแผ่นทองแดง หลงงปู่จารย์ที่แผ่นทองแดงใต้พระกริ่ง แล้วหลวงปู่เมตตาตั้งชื่อกริ่งนั้นว่า พระกริ่งไตรสรณคมณ์ พระชัยไตรสรณคมน์ พระไพรีพินาศไตรสรณคมณ์ ส่วนมากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและปฏิบัติได้ดีแล้ว ผู้ที่เข้าถึงไตรสรณคมณ์ จะชอบพระกริ่งชุดนี้เป็นอย่างมากเพราะเมื่อนำไปใช้แล้ว สามารถปฏิบัติได้เป็นอย่างดี บ้างก็ว่าพระกริ่งและพระชัยที่หลวงปู่สร้างนี้ อธิษฐานใช้ทำให้เปิดได้ไปทั้ง 3 โลก จะใช้อะไรก็อธิษฐานได้ตามใจชอบ แต่ต้องอยู่ในทำนองคลองธรรม มีคนไปถามหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ครับ พระของหลวงปู่นั้นมีเสื่อมไหม?" หลวงปู่ตอบให้ฟังว่า "หลวงพ่อสิม วัดถ้ำผาปล่อง ท่านอธิษฐานพระของท่านให้เสื่อมเมื่อสิ้นพุทธศาสนา แต่พระข้า ขออธิษฐานว่า ถ้าละลายกลายเป็นน้ำเมื่อใด เมื่อนั้นหละแก ก็จะหมดพุทธานุภาพ" แม้หลวงปู่จะไม่สรรเสริญให้ลูกศิษย์ติดวัตถุมงคลให้ยึดการปฏิบัตให้ออกจากการพ้นทุกข์แต่หลวงปู่ก็บอกว่า พวกแกติดวัตถุมงคลดีกว่าไปติดวัตถุอัปมงคล

ข้อมูลจาก หนังสือนะโภคทรัพย์



----------------------------------------------------------------
อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป

คำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤาษีลิงดำ(พระราชพรหมยาน) วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี เกี่ยวกับอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป

การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็น พุทธบูชา ถ้าในกรรมฐานจัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน (การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก

การสร้างพระถวายด้วยอำนาจพุทธบูชาทำให้มีรัศมีกายมากเป็นคนสวย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"

การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชาเป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังของพุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่นก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ทีนี้เมื่อเราต้องการสร้างพระพุทธรูปให้สวยตามที่เราชอบเห็นแล้วก็ทำให้จิตใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอก็จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้นถ้าเราชอบพระแบบไหนปางไหน ก็ให้สร้างอย่างที่เราชอบจิตจะได้เกิดศรัทธา

หลวงพ่อปานวัดบางนมโคแนะนำว่าควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ไม่ควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันตก หรือทิศใต้ เพราะจะทำให้สตางค์ไม่เหลือใช้

ส่วนอานิสงส์การสร้างแท่นพระนั้น ก็มีอานิสงส์เหมือนกับการสร้างพระพุทธรูป คือแท่นพระพุทธรูปเขาบกพร่องอยู่ เราทำให้เต็ม อย่างที่นางวิสาขาหรือพระสิวลีได้เคยทำมาในอดีตชาติ อานิสงส์ไม่ใช่เล็กน้อยนะ อานิสงส์ใหญ่มาก จะเกื้อหนุนให้รวย วาสนาบารมีสูง การสร้างแท่นพระหนุนพระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าให้สูงน่ะ จะทำให้ฐานะของเราดีขึ้น

ครั้งหนึ่งมีญาติโยมถามหลวงพ่อฤาษีลิงดำเรื่องการชำระหนี้สงฆ์ว่าถ้าหากนับรวมหลาย ๆ ชาติเราไม่รู้ว่าเคยล่วงเกินของสงฆ์มามากน้อยเท่าไหร่ จะทำอย่างไรจึงจะชำระหนี้สงฆ์ได้หมด หลวงพ่อท่านกำหนดสมาธิจิตถามพระพุทธเจ้า ก็ปรากฏนิมิตเป็นพระพุทธเจ้าลอยมาตอบคำถามท่านว่า "ถ้าจะชำระให้ครบถ้วนเป็นเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ให้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก" พระหน้าตัก ๔ ศอก ถือว่าเป็นพระประธานมาตรฐาน ท่านบอกว่า "พระพุทธรูปนี่ไม่มีใครตีราคาได้ ใช้ในการชำระหนี้สงฆ์ หนี้สงฆ์ที่แล้ว ๆ มา ถือเป็นการหมดกันไป" เมื่อถามว่าการสร้างพระองค์หนึ่งชำระหนี้สงฆ์ได้คนเดียวหรือกี่คน ท่านก็บอกว่า "ถ้าไม่ปิดทองได้คนเดียว ถ้าปิดทองครบถ้วนได้ทั้งคณะ" คำว่า "คณะ" หมายความว่าบุคคลหลายคนก็ได้ ตัดบาปเก่าชำระหนี้สงฆ์เก่า ๆ ได้หมด แต่ถ้าสร้างหนี้ใหม่ต่อก็เป็นหนี้ใหม่เหมือนกันนะ

เวลาถวายสังฆทานเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย อย่างน้อยควรมีพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๕ นิ้วขึ้นไป ผู้ที่อนุโมทนารับบุญรับกุศลจะมีรัศมีกายสว่างมาก เพราะเทวดาหรือพรหมเขาแบ่งฐานะกันตามความสว่างของร่างกาย ไม่ได้ดูที่เครื่องแต่งตัว ถ้ามีผ้าจีวรด้วย ผู้อนุโมทนาจะมีเครื่องประดับสวยงามกว่าเดิม ถ้ามีอาหารด้วย ความเป็นทิพย์ของร่างกายจะดีกว่าเก่า

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป นำมาจากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑" โดยพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี จัดทำโดย เจ้าหน้าที่ธัมมวิโมกข์

--------------------------------------------------------------

อานิสงส์ สร้างพระพุทธรูป

พระราชสุทธิญาณมงคล

พระพุทธรูป หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าพระรูปของพระพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปจะมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง? การสร้างพระพุทธรูปมีอานิสงส์มากมายหลายประการ เหลือที่จะนับจะประมาณได้ จะขอยกมาแสดงไว้ในที่นี้แต่พอเป็นตัวอย่าง หรือพอเป็นแนวทางเท่านั้นคือ

๑. ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการคือ

๑) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน หมายความว่า ผู้นั้นต้องเอาพระพุทธรูปไปถวายพระสงฆ์ไว้ในวัดใดวัดหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกาได้กราบไหว้สักการะบูชา และก่อนที่จะได้ถวายตัวเองก็ต้องบริจาคเงินสร้างหรือเช่ามาแล้วนี้เป็นทานมัยกุศลชั้นต้น ต่อมาก็มีการเฉลิมฉลองอีก ตัวเองก็บริจาคจตุปัจจัยไทยทานถวายพระทำบุญ นี้เป็นทานมัยกุศลชั้นที่ ๒ ถึงแม้ว่าจะสร้างไปไว้ที่บ้านเพื่อสักการะบูชา ก็ต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกันนี้ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อวาได้บำเพ็ญทานมัยกุศลไปด้วย

๒) ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายความว่า ก่อนแต่จะทำการถวายทานหรือถวายพระพุทธรูป เจ้าภาพก็ต้องสมาทานศีลเสียก่อน ศีลที่สมาทานคราวนี้เกิดขึ้นเพราะการสร้าพระพุทธรูปเป็นปัจจัย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญศีลมัยกุศลไปด้วย

๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คำว่าภาวนานั้นมีสองอย่างคือ สมถภาวนา ๑ วิปัสสนาภาวนา ๑ การได้เห็นพระพุทธรูปด้วยตาได้กราบได้ไหว้ด้วยกาย ได้เปล่งวาจาระลึกถึงพระพุทธคุณ ใจก็น้อมนึกไปตาม ว่าผู้นั้นได้เจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน จัดเป็นสมถกรรมฐานเป็นมหากุศล ตายด้วยจิตดวงเดียว อย่างต่ำต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างกลางสามารถไปเกิดในสวรรค์ อย่างสูงสามารถไปสู่พระนิพพานได้ ดังพระปิติมัลละเถระเป็นตัวอย่าง คือพระเถระนั้นได้กวาดลานวัดแต่เช้าตรู่ ได้เห็นพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้า ซึ่งเทวดานฤมิตนั้นขึ้น พอท่านเห็นก็เกิดปีติแล้วยกปีติขึ้นพิจารณา เจริญวิปัสสนากรรมฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญภาวนากุศลไปด้วย

๔) อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่านผู้เจริญโดยคุณ โดยวัย โดยชาติ การไหว้พระพุทธรูป ไหว้พระสงฆ์ หรือไหว้ผู้แก่กว่า ชื่อว่าได้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่านผู้เจริญ จัดเป็นบุญกิริยาวัตถุ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญอปจายนมัยกุศลไปด้วย

๕) ไวยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ หมายความว่า ในการสร้างพระพุทธรูปนั้น จะต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมาก การวิ่งเต้นช่วยกันในงานหล่อพระในงานฉลองพระ เป็นต้น ถือว่าเป็นมหากุศลมีผลไม่น้อย เช่น พระเจ้าจันทปัชโชติ พระไวยาวัจจกเถระ เป็นตัวอย่างดังนี้คือ
ก. พระเจ้าจันทปัชโชติ ได้ช่วยนายรับบาตรพระมาใส่อาหารและนำกลับไปถวายพระ ปรารถนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และปรารถนาให้มียานพาหนะดี เดินทางได้วันละหลายๆ โยชน์ และปรารถนาให้ตนมีอำนาจวาสนามาก ครั้นตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีนามว่า พระเจ้าจันทปัชโชติสมความปรารถนา

ข. พระไวยาวัจจกเถระ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระวิปัสสี ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือในกิจการของวัดและได้ช่วยเหลือในงานทำบุญต่างๆ ตายจากชาตินั้นได้ไปเกิดในสวรรค์ จุติมาเกิดเป็นพระราชาได้ออกบวชเจริญวิปัสสนากรรมฐานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แตกฉานในปฏิสัมภิพาทั้ง ๔ ได้วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญไวยาวัจจมัยกุศลไปด้วย

๖) ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หมายความว่า ผู้ที่ได้สร้างพระพุทธรูปจำเป็นอยู่เองที่จะบอกญาติสนิทมิตรสหายให้ทราบ เพื่อร่วมอนุโมทนาในการฉลองพระ การถวาย เป็นต้น นอกจากนั้นยังจะต้องอุทิศส่วนกุศลส่วนบุญให้แก่บิดามารดาปู่ย่าตายาย ท่านผู้มีพระคุณ เทพบุตร เทพธิดา เป็นต้นอีก ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญปัตติทานมัยกุศลไปด้วย

๗) ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ หมายความว่า เมื่อผู้สร้างพระพุทธรูปได้บอกบุญแจ้งข่าวแก่ญาติมิตรแล้ว ญาติมิตรเหล่านั้นก็จะต้องพากันอนุโมทนาต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อผู้อื่นมาอนุโมทนาท่านเจ้าภาพก็พลอยปลื้มปีติอนุโมทนาสาธุการตอบอีก การปฏิบัติอย่างนี้ จัดเป็นมหากุศลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญปัตตานุโมทนามัยกุศลไปด้วย

๘) ธัมมัสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม หมายความว่า ในการสร้างพระพุทธรูปนั้น เจ้าภาพบางคนก็ได้นิมนต์พระไปสวดชะยันโต เจริญพระพุทธมนต์ แสดงธรรม และเจ้าภาพบางคนได้พิมพ์หนังสือธรรมแจกเป็นธรรมทานในงานฉลองพระ เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้ ชื่อว่าได้ให้ธรรมเป็นทานด้วย ตัวเองและผู้ได้มาร่วมงานก็ได้ฟังธรรมไปด้วย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญธัมมัสวนมัยกุศลไปด้วย

๙) ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม หมายความว่า การที่พระสงฆ์ได้มาสวดมนต์สวดชะยันโต หรือแสดงธรรมนั้น ก็เพราะเจ้าภาพเป็นผู้อาราธนามา นี้ชื่อว่าเจ้าภาพได้บุญอันสำเร็จจากการแสดงธรรมแล้ว ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญธัมมเทสนามัยกุศลไปด้วย

๑๐)ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง หมายความว่า กุศลนั้นมีอยู่ ๔ ชั้นคือ
๑.กุศลชั้นกามาวจร ได้แก่ มหากุศลต่างๆ มีการสร้างพระพุทธรูป ถวายทาน สร้างศาลา ฟังธรรม แสดงธรรม เป็นต้น
๒.กุศลชั้นรูปาวจร ได้แก่ การเจริญสมถกรรมฐาน เช่น พุทธานุสสติ เป็นต้น
๓.กุศลชั้นอรูปาวจร ได้แก่ การเจริญอรูปกรรมฐาน ๔ มีอากานัญจายตนะ เป็นต้น
๔.กุศลชั้นโลกุตตระ ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
การที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้เกิดศรัทธา จนถึงสละเงินออกมาสร้างพระพุทธรูปได้ และออกมาทำทานในงานฉลองพระพุทธรูปได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นตรงเห็นถูกแท้ เพราะเป็นบุญของตนเอง ไม่ใช่บุญของใครเลย

๑.ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
๒.ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าเป็นผู้ได้เตรียมตัวก่อนตาย

---------------------------------------------------------------------
ก า ร ส ร้ า ง พ ร ะ พุ ท ธ รู ป จ ะ ไ ด้ บุ ญ อ ย่ า ง ไ ร ?

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ

พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จัดเป็นปูชนียวัตถุสูงสุด ผู้สร้างพระพุทธรูปจะได้ประโยชน์ ดังนี้

๑.ได้บุญตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดสร้าง
อันประกอบด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์จัดเป็น ตถาคตโพธิศรัทธา

๒. เมื่อบริจาคทรัพย์ในการสร้างจัดเป็น ทานบารมี

๓. เมื่อขวนขวายติดตามตลอดงานจัดสร้างพระปฏิมา
จัดเป็นกุศลส่วน วัยยาวัจจมัย

๔ .เมื่อองค์พระปฏิมาสำเร็จสมบูรณ์ ได้เป็นที่ตั้งแห่งความตามอนุสรณ์
ถึงพระพุทธคุณทั้งตนเองด้วย ทั้งผู้อื่นด้วย
กุศลจะเกิดเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้อาศัยพระพุทธปฏิมา

๕. อำนาจแห่งกุศลที่สร้างพระพุทธปฏิมา
ส่งผลให้ได้เกิดเป็นคนรูปงาม
มีบุคลิกสง่าเป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชน
และมีอิสริยยศ บริวาร ทรัพย์สมบัติ
ตลอดจนความสุขสถาพร ไม่เป็นโรควิกลวิกาล

๖. ปิดอบายภูมิ และส่งให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิทันทีในสมัยกาลมรณะแล้ว
หากมีอารมณ์ในกุศลกิจนั้นปรากฎให้จิตก่อนจุติ

๗. เป็นการส่งเสริมพุทธศิลป์ให้เจริญแพร่หลาย
พุทธศิลป์นั้นในชนที่เจริญทางสติปัญญา
เขายกย่องว่าเป็นศิลปะอันสุขุมประณีตละเอียดอ่อน
เป็นสัญญลักษณ์แห่งสันติธรรม และปัญญาธนบริสุทธิ์

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น