ประวัติ การขุดค้นพบ พระนาคปรก กรุวัดลาวทอง จังหวัดสุพรรณบุรี




สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระกรุเนื้อชินสนิมแดงอีกองค์หนึ่งที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ก็คือ พระนาคปรก กรุวัดลาวทอง สุพรรณบุรี ซึ่งผมว่าเป็นพระนาคปรกเนื้อชินสนิมแดงที่สวยงามมากที่สุด ทั้งศิลปะและเนื้อสนิมแดงครับ เรามารู้จักกับกรุวัดลาวทองกันนะครับ

วัดลาวทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัดเลา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดลาวทอง เนื่องจากในฝั่งทางด้านนี้มีวัดเก่าอยู่หลายวัด เช่น วัดพลายชุมพล วัดศรีมาลา วัดพลายงาม เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกันตามวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดลาวทอง

เดิมทีวัดลาวทองเป็นวัดร้าง มีพระ อุโบสถเก่าๆ อยู่หลังหนึ่ง ซึ่งเหลือเพียงแต่ซากอิฐหักพังไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ในพระอุโบสถ และยังมีพระเจดีย์ร้างอยู่อีกหลายองค์ สันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายุคปลาย ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์กลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา มีโรงเรียนประชาบาล และมีความเจริญวัดหนึ่ง


การแตกกรุของพระกรุวัดลาวทองนี้ ในปีพ.ศ.2504 ตาป้อม ภารโรงของโรงเรียนวัดลาวทอง ได้ปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยใหม่ในบริเวณโรงเรียน ขณะที่ขุดหลุมเสาก็ได้พบกับโอ่งขนาดย่อมใบหนึ่งฝังอยู่ในดิน ตาป้อมและลูกชายจึงได้ช่วยกันเปิดฝาโอ่ง ปรากฏว่าภายในโอ่งได้พบพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วและพระบูชาเนื้อสัมฤทธิ์เป็นจำนวนมาก จึงได้ช่วยกันลำเลียงพระขึ้นไปเก็บไว้ที่บ้านหลังเก่าของแก หลังจากนั้นก็ได้แบ่งพระเครื่องไปขายในตัวจังหวัดแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก มีคนเช่าหาเอาไว้บ้างไม่กี่องค์ มีครูท่านหนึ่งก็ได้เช่าเอาไว้สองสามองค์ พอแกเข้ามาที่ กทม.เพื่อสอบ ก็เลยถือโอกาสเอาพระนาคปรกไปโชว์ที่สนามวัดมหาธาตุ เซียนก็แย่งกันซื้อ เนื่องจากสนิมแดงจัดสวยงาม และศิลปะก็งดงาม ดูง่ายว่าเป็นพระเก่า ครูท่านนั้นก็กลับไปเช่าพระเข้ามาอีกและส่งมาทางกทม. จนได้กำไรมากโขอยู่ ต่อมาทางการเริ่มระแคะระคายเรื่องการแตกกรุ ตาป้อมจึงได้นำพระทั้งหมดที่เหลือย้ายไปไว้ที่เมืองกาญจน์ ต่อมาพระที่นำไปฝากไว้ก็ถูกนำออกมาให้เช่าไปจนหมด


พระที่ถูกขุดพบบริเวณวัดลาวทองนั้น พิจารณาจากศิลปะแล้ว เป็นศิลปะขอมแบบลพบุรีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหรือพระเครื่องก็ตาม เนื้อหาอายุความเก่าก็ถึงยุคลพบุรี สันนิษฐานว่าพระทั้งหมดนี้สร้างขึ้นในสมัยลพบุรี แต่โบราณสถานไม่มีหลงเหลือให้เห็น ซึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีพระเครื่องพระพุทธรูป ศิลปวัตถุที่เก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีและลพบุรีอีกหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้เป็นแหล่งวัฒนธรรมและชุมชนโบราณสืบทอดต่อกันมายาวนาน ส่วนวัดลาวทองที่สร้างขึ้นในภายหลังนั้นก็บังเอิญสร้างอยู่ตรงบริเวณที่อาจจะเป็นโบราณสถานเดิมก็เป็นได้



พระพุทธรูปที่พบมีทั้งพระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปนั่ง เนื้อสัมฤทธิ์ ส่วนพระเครื่องที่พบนั้น เป็นพระร่วงยืน พระร่วงนั่งสมาธิ และมารวิชัย พระพิมพ์ซุ้มนครโกษา ที่พบเป็นพระนารายณ์สี่กรก็มีแต่พบน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพระปางนาคปรก ซึ่งสามารถแยกพิมพ์ได้เป็น พระปรกแบน พระปรกชีโบ พระปรกผมเม็ด พระปรกเล็ก ซึ่งพระนาคปรกของกรุนี้ได้รับความนิยมมาก เนื้อพระเป็นเนื้อชินสนิมแดง มีไขขาวปกคลุมทั่วทั้งองค์ ต้องล้างเอาไขขาวออกบ้างจึงจะเป็นเนื้อสนิมแดงสดใสงดงาม บางองค์จะมีสนิมสีครามปนสวยงาม ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระกรุนี้

พระนาคปรกพิมพ์ปรกแบนของกรุนี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระนาคปรกของกรุวัดพระศรีมหาธาตุลพบุรีมาก ผิดกันที่เนื้อชินเท่านั้น พระนาคปรกของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรีจะเป็นเนื้อชินเงิน แต่ของกรุวัดลาวทองจะเป็นเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงครับ