พระพุทธปฏิมากรนาคปรก ...พลานุภาพแห่งจักรวรรดิบายน


.
.
ภายในวัดพราหมณ์ไปรลอเวง ทางทิศตะวันออกของลาน “สนามชัย” หรือ “สนามหลวง”
.


   ตามแนวถนนจากประตูชัย (Victory Gate) ทางทิศตะวันออกของเมือง “พระนครธม” (Angkor Thom) หรือ “นครชยศรี” (Jayasri) ตรงเข้ามาก่อนถึงลานดิน “สนามชัย” หน้าฐานพลับพลารูป“กากบาท” (+) ขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อของ  “ระเบียงช้าง” (Terrace of Elephants) บริเวณด้านหน้าของสระน้ำทางฝั่งทิศใต้ของถนน เป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารศาสนสถาน ที่มีกำแพงล้อมรอบ มีชื่อว่า “วิหารเจ็ดชั้น” หรือ “วัดพรามณ์ไปรลอเวง”  (Vat Prampei Loveng) ที่น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงสุดท้ายของพุทธศตวรรษที่ 18 ตามคติพุทธศาสนาแบบ “เถรวาท”
.

        ตรงบริเวณกึ่งกลาง บนฐานอาคารภายในวัด เป็นที่ตั้งของอาคารเรือนมณฑปทรงสูง ภายในประดิษฐานรูปประติมากรรมของ “พระพุทธปฏิมากรนาคปรก – พระนาคปรก”  (Buddha Sheltered by a Naga)บนฐานยกสูงขนาดใหญ่รูปหนึ่ง ที่หากเมื่อผ่านมาและมองอย่างผิวเผินจากถนนชัย (Jaya road) เข้าไป ก็คงเห็นเป็นเหมือนกับรูปสลักของพระพุทธรูปและประติมากรรมรูปเคารพที่สลักขึ้นจากหินทรายโดยทั่วไป ที่มีให้พบเห็นได้อย่างดาษดื่นในพระนครโบราณอันเก่าแก่แห่งนี้
.
         แต่รูปประติมากรรมพระนาคปรกที่มีริ้วรอยของการซ่อมแซมประกอบต่อเป็นจิกซอว์ไปทั่วทั้งองค์ที่วัดแห่งนี้ กลับมีความสำคัญ แตกต่างไปจากรูปเคารพโดยทั่วไป เพราะพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นองค์เดียวกันกับองค์ที่เคยตั้งประดิษฐานอยู่ในคูหา “ปราสาทประธาน” (Principal Tower) บนยอดมหาปราสาทบายน หรือในความหมายของ “มหาปราสาทไพชยนต์” บนสรวงสวรรค์ วิมานสถานที่อภิเษกสมรสระหว่างโอรสแห่งอินทราเทพกับพระธิดาของพญานาคา ผู้ให้กำเนิดและปกปักษ์คุ้มครองอาณาจักร
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่ ในซุ้มมณฑปรูปทรงสูง ภายในวัดพราหมณ์ไปรลอเวง
.
        นั่นก็คือพระนาคปรกในที่ตั้งอยู่ในสถานอันเงียบเหงาแห่งนี้ เคยเป็น “พระประธานสำคัญ” ที่ทรง”อานุภาพ - พลานุภาพ” ที่สุด ณ จุดศูนย์กลางของจักรวรรดิบายน (Bayon Empire) อันยิ่งใหญ่ ในยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองสูงสุด ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (Jayavarman VIII) ไงครับ !!! 
.
         ......
.
         ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1933 (หรือ ปี พ.ศ. 2476) เมื่อ “จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ตรูเว่” (GeorgesAlexandre Trouvé) ภัณฑารักษ์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orientหรือ EFEO) ได้เข้ามาทำการสำรวจและจัดทำรายละเอียดแผนผังในทุกซอกมุมของมหาปราสาทบายน ภายหลังจากที่มีการขุดลอกดินทับถมออกไปแล้ว เขาก็ได้มาพบกับห้องคูหาใต้ปราสาท มันทำเป็นช่องประตูเข้าสู่บ่อน้ำบาดาลที่ถูกทับถมด้วยดินและเศษหินจนตื้นเขิน
.
.
“จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ตรูเว่”
ภัณฑรักษ์ของสำนักฝรั่งแห่งปลายบุรพทิศ ระหว่างปี 1931 - 1935
.
         เมื่อตรูเว่ ได้เริ่มการขุดลอกดินที่ทับถมอยู่ในบ่อน้ำออก จนเมื่อถึงระดับความลึกที่ 5 เมตรจากระดับพื้นบน เขาได้พบกับชิ้นส่วนของรูปประติมากรรมที่เป็นส่วนพระเศียรและนาคปรกที่แตกหักขนาดใหญ่ที่ขัดขวางติดอยู่กับกำแพงกรุบ่อ และชิ้นส่วนขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วระดับ และเมื่อเขาขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ เขาก็ยังคงพบชิ้นส่วนขนาดเล็กใหญ่ไปตลอดทาง จนเมื่อถึงระดับประมาณ 12.5 เมตร จึงได้พบกับชิ้นส่วนของพระหัตถ์และขนดนาคที่แตกละเอียด และยังคงพบชิ้นส่วนแตกหักอื่น ๆ  ไปจนถึงระดับ 14 เมตร เป็นระดับเดียวกับชั้นของน้ำบาดาลที่ไหลออกมาเจิ่งนองไปทั่วหลุมขุดลึก  แต่เพื่อความแน่ใจ เขาจึงสั่งให้ขุดต่อลงไปอีก 1 เมตร ซึ่งเขาก็ได้พบกับชิ้นส่วนของรูปพระนาคปรกชิ้นสุดท้ายที่ระดับความลึก 15 เมตร
.
.
ชิ้นส่วนแตกหักของพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่
ที่ถูกกู้ขึ้นมาจากบ่อน้ำใต้มหาปราสาทบายน (ภาพ EFEO)
.
         เมื่อนำชิ้นส่วนที่แตกหักของพระนาคปรกมาวางเรียงบนระเบียงชั้นบนของปราสาทบายน ร่องรอยหลักฐานสำคัญที่ปรากฏบนรอยแตก รอยแยกและรอยกะเทาะบนผิวของเนื้อหินแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาเพื่อการ “ทุบทำลาย” แบบที่ต้องการให้แตกละเอียด ย่อยยับไปทั้งหมดโดยความตั้งใจ
.
         เป็นเพราะอะไร พระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นประธานของมหาปราสาทบายน ศูนย์กลางแห่งคติความเชื่อและการปกครองแห่งจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ จึงถูกทุบทำลายและเอาไปทิ้งลงสู่ความมืดมิดในบ่อน้ำใต้ปราสาท ....?
.
.
ชิ้นส่วนแตกหักของพระพุทธปฏิมากรนาคปรก จัดวางเรียงบนลานชั้นบนของปราสาทบายน
ในสภาพที่แสดงให้เห็นชัดว่า “ถูกทุบทำลาย” อย่างชัดเจน (ภาพ EFEO)
.
        ภายหลังการค้นพบและกู้คืนพระนาคปรกคู่จักรวรรดิขึ้นมาจากบ่อลึก และได้มีการประกอบชิ้นส่วนแตกหักกลับมาเป็นรูปประติมากรรมโดยสมบูรณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ (เจ้ามณีวงศ์) กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้โปรดให้เคลื่อนย้ายรูปประติมากรรมพระนาคปรกที่ซ่อมแซมแล้ว ไปประดิษฐานไว้ที่วัดพราหมณ์ไปรลอเวง มาจนถึงในปัจจุบันครับ
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรก เมื่อแรกบูรณะซ่อมแซมต่อเติมจนแล้วเสร็จ
.
.
เปรียบเทียบขนาดความสูงใหญ่ของพระประธานแห่งจักรวรรดิบายนกับมนุษย์
.
         ภายหลังการเคลื่อนย้ายพระพุทธปฏิมาแห่งจักรวรรดิไปยังที่แห่งใหม่ ในวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1935 ภัณฑารักษ์ผู้ค้นพบ ก็ได้หายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย ซึ่งบ้างก็เล่าต่อกันมาว่าเขา “ฆ่าตัวตาย” จากงานที่มากมายสับสน แต่บ้างก็เล่าลือว่า เขาอาจถูกอาถรรพณ์จากอดีต ที่ผนึกคำสาปแช่งของไสยเวทย์ตันตระลงบนเศษซากของพระนาคปรกที่เขาค้นพบ จนนำมาสู่ความตายที่ยังเป็นปริศนาของภัณฑารักษ์หนุ่มที่ยังมีอนาคตอีกยาวไกลในวัย 33 ปี
.
.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรก "ชัยพุทธมหานาถ"
 ภายหลังการซ่อมแซมและถูกนำไปประดิษฐานที่วัดพราหมณ์ไปรลอเวง

.
        นอกจากจะต้องทุบทำลายแล้วยังนำไปทิ้งลงสู่ใต้โลก (คือสถานแห่งพระยม ไม่ใช่ “เฮเดรส” นะ คนละแนวกัน) แล้ว ยังต้องผนึกอาถรรพณ์คำสาปในภาษาลับ (ตันตระ) กำกับทับไว้ด้วยอีกหรือ ?.....
.
         สองคำถามแล้วนะครับ ?
.
         การทำลายรูปเคารพในลักษณะของพระนาคปรก พุทธปฏิมาแห่งจักรวรรดิบายน ยังพบเห็นได้โดยทั่วไปในเขตอำนาจของหัวเมืองชั้นในของอาณาจักรกัมพุชเทศ แทบทุกปราสาทในยุคจักรวรรดิบายนจะมีการขูดลบภาพสลักของเหล่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะมีอานุภาพ – อำนาจในระดับใด เปลี่ยนแปลงเป็นรูปของพระศิวะเทพบ้าง เป็นรูปศิวลึงค์บนฐานบ้าง เป็นรูปฤๅษีในท่าโยคะสนะบ้าง หรือไม่ก็ขูดลบออกเฉย ๆ ทิ้งรูปให้ว่างเปล่าไม่สลักอะไรเข้าไปใหม่ 
.
.
ภาพพระพุทธเจ้าในท่ามกลางทวยเทพบนสรวงสวรรค์ ที่ปราสาทตาพรหม
ก็ถูก”ขูด” สกัดออกทิ้งว่างไว้
.
.
ภาพพระพุทธเจ้าบนบัลลังก์ ท่ามกลางการอัญชลีของเทพยดาที่ปราสาทตพรหม
ก็กลายมาเป็นรูปศิวลึงค์ของพระศิวะ
.
.
ภาพสลักพระพุทธเจ้าในตอนมารผจญ ที่หน้าปราสาทพระขรรค์ ก็ถูกขูดสกัดลบหายไป
.
         ส่วนประติมากรรมรูปเคารพ หากไม่ถูกทุบทำลาย หรือถูกรื้อถอนยกออกจากที่ประดิษฐานในราชวิหาร ปราสาทหลังต่าง ๆ แล้วนำไปฝังทิ้งใต้ดิน (สถานแห่งพระยมที่มืดมิด) อย่างในกรณีการขุดพบรูปประติมากรรมจำนวนมากที่ปราสาทบันทายกุฎี (Banteay Kdei Pr.) หรือที่ขุดพบล่าสุดเมื่อปีกลายที่ปราสาทตาพรหม (Ta Prohm Pr.) หลายรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีเค้าร่างคล้ายคลึงกับเหล่าทวยเทพ (Divinities) ก็จะถูกดัดแปลงแก้ไขเปลี่ยนให้กลายเป็นรูปเคารพในคติความเชื่อแบบฮินดู (Hinduism)
.
        หรือไม่ก็ทุบทำลายทิ้งเสีย !!!
.
.
รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ในสภาพถูกทุบทำลาย ตั้งอยู่ในระเบียงคดของปราสาทนครวัด
.
.
รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
 ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพระศิวะ โดยการเติมตาที่สามเข้าไปที่พระนลาฎ (หน้าผาก)
.
         การทุบทำลาย การฝังทิ้งและการดัดแปลงประติมากรรมรูปเคารพในยุคจักรวรรดิบายนอันรุ่งเรืองตามคติมหายานแบบวัชรยานตันตระ (Vajrayana Tantra) นั้น เชื่อกันว่าเกิดขึ้นในช่วงของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8”  (Jayavarman VIII) กษัตริย์แห่งอาณาจักรในยุคเสื่อมถอย (Diminish Period) ไม่มีหลักฐานความเป็นมาของพระองค์ที่ชัดเจนมากนัก รู้แค่เพียงว่าพระองค์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับราชวงศ์ มหิธระปุระ”  (Mahidharapura  Dynasty) ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7”  (Jayavarman VII) พระองค์อาจมาจากสายตระกูลเชื้อสายจามปา หรือ อาจเป็นเพียงแม่ทัพควบคุมไพร่พลที่เพียงมีสายสัมพันธ์กับพระธิดาในพระญาติพระวงศ์ห่าง ๆ เพื่อการ “ไต่เต้า” แล้วเข้าชิงบัลลังก์ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของ “พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 “(พระโอรส ? ผู้อ่อนแอ ? ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)  แต่ที่แน่ ๆ  พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในลัทธิฮินดูตันตระอย่างมั่นคง จากผลงานอันโดดเด่นทั้งการทำลายรูปเคารพอานุภาพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์แบบ “ขุดรากถอนโคน” รวมไปถึงการดัดแปลงปราสาทศาสนสถานและรูปเคารพจากพุทธศาสนาให้กลายมาเป็นรูปเคารพในคติฮินดูตันตระ ก็ยิ่งเป็นการการันตรีความศรัทธาของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
.
.
รูปประติมากรรมที่อาจเคยเป็นรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระนางปรัชญาปารมิตา
ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพระวิษณุและพระนางลักษมี
จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
         ตลอดระยะเวลาการครอบครองบัลลังก์ที่พระนครธมยาวนานกว่า 50 ปี กลุ่มบ้านเมืองในแว่นแคว้นที่เคยอยู่ใต้จักรวรรดิบายนอันยิ่งใหญ่ ก็ได้เริ่มแยกตัว ปลดแอกออกจากการปกครองที่ศูนย์กลางของเมืองพระนครหลวงทีละน้อย เริ่มต้นจากอาณาจักรจามปาทางตะวันออก กลุ่มแคว้นสุโขทัย กลุ่มแคว้นลพบุรี กลุ่มแคว้นฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา กลุ่มแคว้นทางอีสานเหนือ หรือแม้แต่กลุ่มที่มีความใกล้ชิดทางเครือญาติวงศ์วานที่สุดอย่างกลุ่มสายราชวงศ์มหิธระปุระเก่าในเขตอีสานใต้ (เจนละบกเดิม – เขมรสูง)
.
        ดูเหมือนว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เองก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจต่อการแตกแยก และความล่มสลายของจักรวรรดิบายนในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มากนัก แค่ทรงมีอิทธิพลและอำนาจการปกครองเฉพาะในเขตกลุ่มบ้านเมืองของเขตเขมรต่ำ ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะใช้เวลาตลอดรัชสมัย เลือกที่จะใช้แรงงานไพร่ทาสที่เคยเป็นผู้สร้างปราสาทขนาดใหญ่น้อย ให้กลับมาเป็นผู้เข้ารื้อทำลายปราสาทราชวิหาร ลบล้างและเปลี่ยนแปลงรูปอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เลือกเฉพาะในคติความเชื่อวัชรยานตันตระเป็นหลัก ส่วนอาคารศาสนสถานและรูปเคารพของพระพุทธเจ้าตามคติความเชื่อแบบ “เถรวาท” ทั้งหมด ก็จะทรงละเว้นไม่แตะต้อง
.
         และเพื่อการรับรองและคุ้มครองอาณาจักรเรอเนสซองซ์ - เจนละใหม่ที่มีอำนาจทางการเมืองเหลือเพียงพื้นที่รอบโตนเลสาบของพระองค์ ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์จึงได้ส่งคณะทูตขึ้นไป “จิ้มก้อง” ถวายบรรณาการแก่พระเจ้ากุบไลข่าน (Great Kublai Khan) จักรพรรดิแห่งราชวงศ์มองโกลที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลลงมาสู่อุษาคเนย์ และในอีกไม่กี่ปีต่อมา ราชสำนักมองโกลจึงได้ส่งคณะราชฑูตที่มี “โจวต้ากวาน” (Chou Ta Kuan) (ผู้บันทึกเรื่องราววิถีชีวิตของชาวพระนครธมในหลายมิติ ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะเป็นหลักฐานเพียงฉบับเดียวที่มีอยู่... หุหุ) ร่วมเดินทางมาด้วย
..
         เมื่อครั้งพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 สิ้นพระชนม์อย่างเป็นปริศนา ในพระราชวังหลวงของเมืองพระนครธม กำลังไพร่พลในสังกัดของแม่ทัพผู้คุมเมืองหลวงผู้หนึ่ง ก็ได้เข้ายึดอำนาจ ขึ้นประทับใต้เศวตฉัตรบัลลังก์ทองแห่งกัมพุชเทศะ ประกาศพระนามว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8” (หรือพระนามหลังสวรรคตว่า “ปรเมศวร” – ผู้เป็นใหญ่ดั่งพระศิวะ) เพื่อเป็นการสร้าง อ้าง “สิทธิ” และความชอบธรรมของการสืบทอดราชวงศ์มาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ในอาณาจักรเจนละยุคเริ่มแรก
.
.
มหาปราสาทบายน หลักหมุดขนาดใหญ่แห่ง “พุทธมันดารา” บนพื้นพิภพ
.
        จนเมื่อเข้าควบคุมอำนาจในเขตหัวเมืองชั้นในไว้ได้อย่างราบคาบไร้ผู้ต่อต้านแล้ว พระองค์จึงได้เริ่มมีพระราชโองการครั้งสำคัญ นั่นคือพิธีกรรมการถวายพระรูปศิวลึงค์แห่งไศวะนิกายอันศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์ในฐานะแห่ง ”เทวราชา” (Devaraja Cult) ผู้ปกครองสกลจักรวาลพระองค์ใหม่ แต่กระนั้น บ้านเมืองของพระนครธมก็ยังคงเต็มไปด้วยรูปเคารพแห่งอานุภาพของกษัตริย์โพธิสัตว์พระองค์เก่าที่น่ารังเกียจ เป็นอริศัตรู กำแหงหาญต่อเหล่าทวยเทพเก่าแก่
.
         พระองค์จึงมีราชโองการสั่งให้เหล่าทหารและไพร่ทาส บุกเข้าสู่มหาปราสาทบายน ปราสาทที่สร้างขึ้นตามยันตรมณฑล (Yantra Mandala) อันศักดิ์สิทธิ์ ให้รื้อถอน “หลักหมุด” แห่งอานุภาพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ด้วยการทุบทำลายพระปฏิมานาคปรกประธานแห่งปราสาทให้แตกสลาย เสมือนการ “สลายอำนาจ” อานุภาพของกษัตริย์พระองค์ก่อน ที่แม้จะเคยยิ่งใหญ่ ปกครองแว่นแค้วนกว้างใหญ่เพียงไหน หรือจะเคยเป็นพระโพธิสัตว์ทรงอานุภาพผู้สอดส่องดูแลผู้คนทั่วหล้าก็ตาม แต่ในวันนี้ วันที่แผ่นดินได้เปลี่ยนแปลงไป พระองค์ก็ได้สลาย ...ตายไปอย่างมนุษย์ปุถุชนทั่วไปเมื่อนานมาแล้ว
.
         เฉกเช่นกัน ...รูปเคารพอันน่าอัปลักษณ์..ไร้ความหมายที่พระองค์เคยสร้างไว้ ในวันนี้มันก็จะไม่มีอำนาจอานุภาพ หลงเหลืออยู่เพื่อใครในอาณาจักรนี้อีกต่อไปแล้ว !!!
.
.
ภาพกราฟิกแสดงระดับความลึกของบ่อน้ำใต้ปราสาทบายน
.
         แต่กระนั้น อำนาจแลอานุภาพ ที่ลึกลับยากที่จะต้านทานจากอาณาจักรเก่า ก็อาจจะย้อนกลับมาสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตในไร่นา นำพามาซึ่งโรคระบาดและบารายที่เหือดแห้ง จึงต้องกำกับทำลายอำนาจเหนือธรรมชาติเก่านั้น ด้วยพิธีกรรมการสาปแช่ง การลงอาถรรพ์เวทย์ตามคัมภีร์ปุราณะแห่งตันตระ (Tantra Black Magic) และให้นำชิ้นส่วนที่แตกหักของรูปเคารพแห่งอานุภาพสูงสุดคู่จักรวรรดิเก่า ไปทิ้งลงสู่ก้นบ่อน้ำใต้ปราสาทเพื่อการสะกด กำจัดอำนาจแลอานุภาพเดิมให้สิ้นสูญไปจากโลกแห่งความสว่าง โลกของอาณาจักรแห่งใหม่ ลงไปสู่สถานแห่งพระยม (Yama Deva) อันเป็นดินแดนที่มืดมิด จมสู่ขุมนรกภูมิและจงได้ดับสูญไปตลอดกาล
.
.

ประตูทางเข้าสู่บ่อน้ำ ชั้นล่างสุดของมหาปราสาทบายน

.
.

ภายในบ่อน้ำที่มีการกรุขอบบ่อด้วยหินทรายและศิลาแลง
ที่ทิ้งชิ้นส่วนแตกหักของพระพุทธปฏิมากรนาคปรกลงไปทั้งองค์

.
         อีกทั้งรูปเคารพทั้งพระนาคปรก เหล่าพระโพธิสัตว์และเทวีปรัชญาปารมิตาอีกมากมายในปราสาทราชวิหารทุกแห่ง ก็ให้รื้อถอนถอดโคนเดือยออกจากอาคารศาสนสถาน หรือไม่ก็ให้ทุบทำลายเสีย แยกส่วนพระเศียรที่เป็นส่วนสำคัญให้แตกออกจากร่าง แล้วให้นำชิ้นส่วนรูปเคารพที่แตกหักทั้งหลายนั้นไปฝังกลบในหลุมลึกใต้ดิน แทนความหมายของนรกภูมิที่มืดมิด สะกดอำนาจแลอานุภาพเก่าให้ดับสูญ สลายหายไปจากโลกใหม่ของอาณาจักรเช่นเดียวกัน
.
        จะต้องตามทำลายล้างกันอย่างที่เล่ามานี้เลยหรือ ? ท่านผู้อ่านก็คงจะเริ่มสงสัย
.
         ในปี ค.ศ. 2001 ในระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี โดยความร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยโซเฟีย(Sophia University Angkor International Mission) จากประเทศญี่ปุ่นกับองค์กรอัปสรา (Apsara Authority) ที่ปราสาทบันทายกุฎี (Banteay Kdei Pr.) บริเวณอาคารขนาดเล็กทางด้านหน้าฝั่งทิศเหนือก่อนข้ามคูน้ำเข้าสู่ซุ้มประตูโคปุระ ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่โซน D11 ในระหว่างการขุดลอกหน้าดินตะกอนทับถมและตรวจชั้นดินของปราสาท ในหลุมขุดด้านหน้าประตูลึกประมาณ 2.5 เมตร ก็ได้มีการขุดค้นพบ หลักฐานสำคัญที่จะช่วยคลายความสงสัยในเรื่องราวรายละเอียดของการสลายอำนาจ – อานุภาพที่ดู “ไม่น่าเชื่อ” ที่ผมเพิ่งเล่าไปเมื่อซักครู่นี้ครับ
.
.
.
 การขุดค้นทางโบราณคดีที่ปราสาทบันทายกุฎีในปี 2001
ได้เผยให้เห็นหลักฐาน “เรื่องราวโศกนาฏกรรม” ครั้งสำคัญของจักรวรรดิบายนในยุคเสื่อมถอย
.
          หลักฐานที่ขุดพบโดยบังเอิญ แบบไม่ตั้งใจในระหว่างการศึกษาชั้นดินที่ปราสาทบันทายกุฎี ก็คือการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพ (Discovered Buddhist Statues) ในคติมหายาน (Mahayana) หรือวัชรยานตันตระ ที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในช่วงยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งจักรวรรดิบายน จำนวน 274 ชิ้น ประมาณกันว่าเป็นชิ้นส่วนที่แตกหักของพระพุทธรูปนาคปรกขนาดต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 150 องค์ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอีกกว่า 10 ชิ้น  “หลักยันตรมณฑล” ขนาดใหญ่ 1 หลัก และปราสาทจำลองมีซุ้ม 4 ทิศ 1 หลัก (ภายในซุ้มปราสาทจำลอง ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร รูปเทวรปรัชญาปารมิตาและรูปพระวัชรธร บุคลาธิษฐานแทนความหมายของการบรรลุนิพพานอย่างรวดเร็ว) และรูปประติมากรรมอีกหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นเครื่องบนประดับปราสาทเฉพาะที่เป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปพระพุทธรูปประทับยืน และรูปเคารพสามองค์ตามคติวัชรยานไตรลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกรื้อถอนออกมาจากภายในหมู่อาคารอย่างเป็นระบบขั้นตอน ดังที่พบ “รูหลุมเดือย” ที่เคยเป็นที่ตั้งของรูปเคารพอยู่ทั่วไปในอาคารหลังต่าง ๆ ของปราสาท แล้วย้ายมาฝังรวมไว้ในหลุมเดียวกันทั้งหมดในคราวเดียว
.
.
ชิ้นส่วนของรูปประติมากรรมพระนาคปรกและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำนวนมาก
 ในสภาพถูกทุบหรือทิ้งกระแทกให้พระเศียรหรือส่วนพังพานนาคหัก แล้วนำมาฝังรวมกันในหลุม
.
.
.

พระพุทธรูปในรูปแบบแบบ “ชัยพุทธมหานาถ” ขนาดใหญ่น้อย
และหลัก “พุทธะ-ยันตระมณฑล” ที่ถูกรื้อถอนออกมาจากภายในปราสาท
มาฝังรวมกันไว้ในหลุมหน้าอาคารขนาดเล็ก
ทางด้านหน้าฝั่งทิศเหนือของปราสาทบันทายกุฎี

.
          ซึ่งก็คงต้องยกให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ผู้ล้มล้างจักรวรรดิบายนทั้งทางโลก (อำนาจ การปกครอง)และในทางอำนาจเหนือธรรมชาติ (อำนาจแลอานุภาพ) ได้กลายเป็น “จำเลย” ในหน้าประวัติศาสตร์ของการทำลายล้างคติความเชื่อเดิมของอดีตแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แบบ “ขุดรากถอนโคน” ในปราสาทบันทายกุฎีนี้ อย่างไม่มีข้อสงสัย
.
.
.
 รูปประติมากรรมขนาดใหญ่น้อย ในรูปแบบต่าง ๆ
ที่ถูกรื้อถอนออกมาจากภายในอาคารศาสนสถาน

มาฝังรวมกันไว้ในหลุมหน้าอาคารขนาดเล็ก ทางด้านหน้าฝั่งทิศเหนือของปราสาทบันทายกุฎี

.
         และเมื่อปีที่แล้ว (2011) ก็ยังมีการขุดพบรูปประติมากรรมของพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ศิลปะแบบบายน ความสูงกว่า 2 เมตร ที่ข้างฐานอาคารหอนางรำ (วิหาร) ด้านหน้าของปราสาทตาพรหม ที่น่าจะเป็นพระประธานสำคัญของราชวิหารแห่งนี้ ในสภาพถูกทุบแยกพระเศียรออกจากพระวรกาย เช่นเดียวกันกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในทั่วเมืองพระนครในช่วงเวลาเดียวกัน
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่ ที่อาจเป็น “พระชัยพุทธมหานาถ”
ประธานของราชวิหารแห่งปราสาทตาพรหม ถูกขุดพบในเดือนตุลาคม ปี 2011
.
         ปัจจุบันรูปประติมากรรมทางพุทธศาสนาที่ขุดพบในเขตปราสาทบันทายกุฎีทั้งหมดถูกนำขึ้นมาเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระนโรดมสีหนุ (Preah Norodom Sihanouk – Angkor museum) ซึ่งรายละเอียดจากการศึกษารูปแบบทางศิลปะในยุคบายน “แท้” ที่พบหลักฐานแบบ “ยกเข่ง – เหมาโหล”เช่นนี้ ก็จะมีส่วนช่วยให้เราทำความเข้าใจเรื่องราวความต่อเนื่องของ “พระพุทธรูปนาคปรก” ที่สืบทอด “ร่องรอยทางศิลปะและคติความเชื่อ” มาจนถึงในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีครับ
.
.

ช่องรูที่ชั้นบนสุดของปราสาทประธานปราสาทบายน
เป็นช่องรูที่เคยสวมเดือยของแท่นฐานพระพุทธปฏิมากรนาคปรกคู่จักรวรรดิ

.
         ซึ่งนั่นก็คือเรื่องราวของ “พระพุทธรูปนาคปรก” และรูปเคารพ “ชัยพุทธมหานาถ” ในศิลปะแบบบายน ที่พบเห็นได้ในเขตจักรวรรดิบายนที่เคยยิ่งใหญ่ในยุคโบราณ ซึ่งใน “ปัจจุบัน” ก็คือส่วนของประเทศกัมพูชา บางส่วนของประเทศไทยและประเทศลาว ไงครับ
.
.
หลักหินในคติ “พุทธมณฑล”( Buddha Mandala) 
เป็นการจัดวางเหล่าพระพุทธเจ้าบนสรวงสวรรค์มันดารา
แบบเดียวกับหลัก “ยันตรมณฑล” ของฮินดูตันตระในยุคก่อนหน้า
ขุดพบที่ปราสาทบันทายกุฎีพร้อมกับพระพุทธรูปที่ถูกทุบทำลายจำนวนมาก
.
.
หลักหินรูปซุ้มปราสาท 4 ทิศ
ด้านฝั่งที่เป็นรูปของ “พระวัชรธร” หรือบุคคลาธิษฐานแห่งความสำเร็จโดยพลัน
.
.

พระพุทธรูปนาคปรกในรูปแบบมีมวยผมหรืออุษณีษะแบบรัดเกล้าเป็นรูปกลีบบัวซ้อน
แบบ ”พระชัยพุทธมหานาค” ที่ปราสาทบันทายกุฎี

.
.
รูปประติมากรรมพระพุทธปฏิมากรนาคปรกที่ขุดพบที่ปราสาทบันทายกุฎี
จะมีลักษณะของใบหน้าเพียงแค่”คล้ายคลึงกัน” แต่ไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่ ในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ถูกฝังทิ้งที่ปราสาทบันทายกุฎี
.
         คติความเชื่อของการสร้างรูปเคารพพระศากยมุนี ที่มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอยู่ด้านบนนั้นแรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมของเขมรโบราณนะครับ แต่มีพื้นฐานสำคัญมาวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาในอินเดีย ที่เกิดขึ้นมาจาก “พุทธประวัติในตอนตรัสรู้”  ที่มีการกล่าวถึงพญานาค “มุจลินท์” (Mucalinda Serpent) ผู้เป็นราชาแห่งเหล่านาคราช ที่ขึ้นมาแผ่พังพานเสมือนดั่งเป็นเศวตฉัตร 7 ชั้น ปกคลุมเบื้องบน แล้วม้วนตัวทำเป็นขนดนาคล้อมพระวรกายอีก 7 ชั้น มิให้ลมพายุฝน แมลงร้ายและลมหนาวถูกต้องพระวรกายองค์พระศากยมุนีเจ้า
.
         สอดรับเข้ากันกับตำนานเก่าแก่ของชาวกัมพุชเทศโบราณ ที่ถือว่า “นาค” หรือ “นาคราช” เป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้ปกปักษ์รักษาอาณาจักรเขมรมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ดังนิทานพื้นบ้านที่กล่าวถึงเรื่องราวของ“นางโสมะ” ผู้เป็นธิดานาคราช ได้อภิเษกสมรสกับ “โกญฑัญญะ” (แปลว่า ผู้มีเกาทัณฑ์วิเศษ) วรรณะพราหมณ์จากอินเดีย และพญานาคราชผู้เป็นพระราชบิดาของนางโสมะก็ได้ช่วยสร้างอาณาจักรกัมโพชขึ้นให้กับทั้งสอง
.
         การวางองค์ประกอบของรูปประติมากรรมพระนาคปรกแบบลอยตัวในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ที่ถือเป็นช่วงแรกของการ “เคลื่อนย้าย” (Movements) หรือ “ลอกเลียน” (Imitates) ประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนาจากวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นครั้งแรก ๆ จะวางรูปของพระศากยมุนีในท่าธยานะมุทรา (ปางสมาธิ) ประทับนั่งบนบัลลังก์ขนดนาค ด้านบนวางเป็นรูปของพญานาคามุจลินท์ 7 เศียร (Seven-headed serpent) แผ่พังพานแยกออกเป็นร่มฉัตร ที่ด้านข้างทั้งสองฝั่งวางเป็นรูปของยอดพระสถูป
.
         รูปประติมากรรมพระนาคปรกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค น่าจะเป็นรูปพระนาคปรกที่พบที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี  กับพระพุทธรูปนาคปรกที่พบจากบ้านเมืองฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่  11 และพระพุทธรูปปางนาคปรกที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีอายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12
.
.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกองค์แรก ๆ ที่อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดของอุษาคเนย์
(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) พบที่เมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร/ปราจีนบุรี

.
.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกองค์แรก ๆ ที่อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดของอุษาคเนย์อีกองค์หนึ่ง
อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 11 พบที่เมืองโบราณบ้านฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดอุทัยมัคคาราม ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกองค์แรก ๆ ของอุษาคเนย์ อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12
พบที่พระนครศรีอยุธยา จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
.
         ส่วนในอาณาจักรกัมพุชเทศะโบราณ เริ่มปรากฏรูปของประติมากรรมพระนาคปรกครั้งแรก ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 โดยอิทธิพลของราชวงศ์มหิธระปุระ ที่มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเถรวาทแบบทวารวดี เป็นพระนาคปรกในช่วงศิลปะแบบบาปวน (Baphuon Style) มีลักษณะของพระศากยมุนีนั่งขัดสมาธิราบในท่าธยานะมุทรา (ปางสมาธิ) ประทับบนบัลลังก์ขนดนาค ชั้น ที่ขยายขนดให้ใหญ่ขึ้นทีละชั้น ที่พระวรกายยังไม่มีการประดับอาภรณ์แบบพระทรงเครื่อง แต่ละรูปสลักจะมีรูปใบพักตร์ (หน้า)แตกต่างไม่คล้ายคลึงกัน อุษณีษะ (อุณหิส – พระเกตุมาลา )เหนือพระเศียรบางรูปทำคล้ายเป็นรัดเกล้ารูปกรวยแหลม บ้างก็เป็นขมวดพระเกศาต่อขึ้นไปจากพระเศียร หรืออาจอาจทำเป็นรัดเกล้ารูปกลีบบัวซ้อนขึ้นไปหลายชั้น  
.
.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกในยุคแรกของวัฒนธรรมเขมร
 จากจังหวัดพระตะบอง ศิลปะแบบบาปวน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา

.
         ลักษณะของพญานาค เศียร จะทำดูเหมือนยกตัวขึ้นมาจากด้านหลังของพระวรกาย แผ่พังพานคล้ายรูปใบโพธิ์ยอดแหลม เริ่มแผ่ตัวจากส่วนต้นแขนขึ้นไปเหนือพระเศียร เศียรนาคไม่มีรัศมีหรือกะบังหน้าประกอบ เศียรนาคตรงกลางเงยหน้าเชิดตรง หรือมองมาทางข้างหน้า ส่วนเศียรนาคด้านข้างทั้งหกเศียรก็หันหน้าสอบขึ้นไปตามแนวแผ่ข้าง มองขึ้นไปยังเศียรกลาง หรือบางรูปก็จะเอียงเศียรออกมาทางด้านหน้าในแนวสอบเข้าอย่างเดียวกัน
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกในยุคแรกของวัฒนธรรมเขมร
ศิลปะแบบบาปวน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส
.
        ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 รูปประติมากรรมพระนาคปรก เริ่มได้รับอิทธิพลทางคติความเชื่อในลัทธิมหายาน นิกายวัชรยานตันตระ (Vajrayana Tantra) ที่มีต้นทางมาจากวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14 เกิดเป็นความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปของ “พุทธราชา” หรือ “พระอาทิพุทธเจ้า” ที่มีการประดับรูปเครื่องอาภรณ์แบบกษัตริย์หรือที่เรียกว่า “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” (Crowned Buddha) ขึ้นเป็นครั้งแรกของศิลปะเขมร โดยมีการใส่เครื่องประดับศิราภรณ์ทั้งกะบังหน้า มงกุฎรูปกรวยครอบพระเศียรที่เคยเป็นเพียงขวดพระเกศา สลักรูปของกุณฑล (ตุ้มหู) ที่ปลายพระกรรณทั้งสองข้าง ส่วนของพระวรกาย ก็สลักเป็นรูปแผงกรองพระศอประดับด้วยลายดอกไม้ตรงกลางและมีพู่อุบะห้อยอยู่ด้านล่าง ที่พระพาหา (แขน) ยังสลักเป็นรูปพาหุรัด ที่ต้นแขน และรูปทองพระกร ที่ข้อมือ
.
.

พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลา 5 ปาง ศิลปะอินเดียแบบปาละ – เสนะ
อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16พบจากแคว้นพิหาร
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum)

.
.

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางวิตรรกะมุทธราในซุ้มบัญชร ศิลปะอินเดียแบบปาละ – เสนะ
อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ British Museum

.
.
พระพุทธรูปทรงเครื่องรุ่นแรก ศิลปะอินเดียแบบปาละ – เสนะ
อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 
จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum)
.
         รูปแบบของพระพุทธรูปทรงเครื่องในยุคนครวัด (Angkor Wat Stayle) แทนความหมายถึง “ชินพุทธะ – มหาไวโรจนะ” พระพุทธเจ้าสูงสุดผู้เป็นราชาแห่งเหล่าตถาคตหรือเหล่าพระพุทธเจ้าทั้งมวล หรืออาจเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า “พระวัชรสัตว์พุทธะ” ครับ
.
.
พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ศิลปะแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 
จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum)
.
.

พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ศิลปะแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 
 พบที่วัดพระราม จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
.
         รูปลักษณ์ทางศิลปะในยุคบาปวนจนถึงนครวัด ก็ยังได้ถูกส่งต่อมายังพระพุทธรูปนาคปรกในยุคจักรวรรดิบายน ที่มีการสร้างรูปประติมากรรมของพระนาคปรกขึ้นอย่างมากมายจนดูเหมือนว่าจะเป็น "แบบแผนพุทธลักษณะ"หลักของการสร้างรูปประติมากรรมทั้งหมดครับ
.
        ลักษณะของพระปฏิมานาคปรกในรูปแบบของศิลปะบายน กลับไม่ค่อยจะนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมากนัก จะมีให้เห็นบ้างก็ประปราย รูปพระนาคปรกในยุคบายนนี้ยังคงนิยมที่จะสลักกุณฑล (ตุ้มหู) ที่ปลายพระกรรณเช่นเดียวกับในยุคก่อนหน้า รูปประติมากรรมพระนาคปรกแบบบายนจะแยกออกได้ 2 แบบใหญ่ นับจากส่วนของพระเศียรเป็นหลัก คือแบบที่มีอุษณีษะ หรือพระเกตุมาลาเป็นมวยพระเกศารูปรัดเกล้ายอดแหลม ประดับด้วยกลีบบัว คล้ายเอาดอกบัวบานมาวางซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น  มีขมวดพระเกศาทั้งแบบม้วนก้นหอยหรือแบบเกล็ดซ้อนไล่ไปตามแนว บางรูปสลักที่มีอุษณีษะลักษณะนี้ก็อาจสวมศิราภรณ์มีกะบังหน้าแต่ก็จะไม่กว้างมากนัก
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ(อุณหิส – พระเกตุมาลา)กลีบบัว
ศิลปะแบบบายน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” จากปราสาทบายน
มีลักษณะถูกทุบทำลาย
 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะกลีบบัว
 ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
 เป็นรูปสลักที่ถูกทุบทำลายรูปหนึ่งที่ขุดพบจากปราสาทบันทายกุฎี
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้านโรดมสีหนุ เมืองเสียมเรียบ
.
         ประติมากรรมรูปพระนาคปรกแบบที่สอง ขมวดพระเกศาจะเป็นก้นหอยเรียงตัวเป็นตาราง ที่พระเศียรจะไม่มีมวยพระเกศาหรืออุษณีษะ จะเป็นเพียงแต่ยอดแหลมเล็ก ๆ ยื่นขึ้นมาจากยอดกระหม่อมคล้ายกับปลายของ“ขนมโมทกะ”  (Modak) ของโปรดขององค์พระคเณศ             
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกศิลปะบายนในรูปแบบของ “พระสุคต”
ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ
อาจเป็นรูปประติมากรรมที่ทรงโปรดให้ส่งมาประดิษฐานที่มหาปราสาทนครวัดตั้งแต่แรก
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกศิลปะบายนในรูปแบบของ “พระสุคต”
ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
.
พระพุทธรูปนาคปรกที่กลางอาคารโคปุระด้านหน้าของมหาปราสาทบายน มีการนำพระเศียรของ “พระสุคต” แบบโมทกะหล่อใหม่ เข้ามาซ่อมแซมรูปประติมากรรมเดิมที่ “ถูกทุบทำลาย”
.
        ลักษณะพระพักตร์ของรูปประติมากรรมพระนาคปรกในยุคบายนนี้ มีเค้าหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีสีพระพักตร์ดูอ่อนโยน มีรอยยิ้มมุมปากแสดงความเมตตากรุณา หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยิ้มบายน” (Bayon Smile) เป็นแบบแผนสำคัญ คล้ายคลึงกันไปทั่วทั้งจักรวรรดิบายน แต่ถึงแม้ว่ารูปสลักที่สร้างขึ้นในดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองพระนครธม หรือรูปสลักพระพุทธรูปในยุคหลัง จะมีความแตกต่างของเค้าโครงพระพักตร์ไปอยู่บ้าง หรือแตกต่างมาก แต่ทั้งหมดก็ยังล้วนแสดงให้เห็นร่องรอยของการสืบทอดรูปของพระพักตร์ที่นิ่งสงบ ดูเคร่งขรึม มีรอยยิ้มเล็ก ๆ ที่ตรงมุมปาก ส่งต่อจากจักรวรรดิบายนมาสู่แว่นแคว้นโบราณในภาคกลางของประเทศไทยอย่างชัดเจนครับ
.
.
ภาพถ่ายเก่าในช่วงรัชกาลที่ 5
แสดงภาพพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะบายนในกลุ่มลวะปุระจำนวน 4 – 5 องค์
ภายในวิหารหน้าปราสาทปรางค์สามยอด
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะตามแบบ ”พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
พบที่อำเภอศรีณรงค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ สภาพสมบูรณ์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ สภาพสมบูรณ์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
“พระสุคต” ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ
 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
        ในช่วงสมัยอันรุ่งเรืองของจักรวรรดิบายนที่ยิ่งใหญ่ มีการสร้างพระพุทธปฏิมา(นาคปรก) ขึ้นจำนวนมาก ดังหลักฐานที่ปรากฏในข้อความของจารึกปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan Inscription) ที่กล่าวถึงการสร้างประติมากรรมรูปเคารพเพื่อนำไปถวายประดิษฐานทั้งในปราสาทพระขรรค์ ราชวิหารประจำหัวเมืองต่าง ๆ ของจักรวรรดิ โดยได้ทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร ถวายพระนามว่า “ศรีชยวรเมศวร” (ซึ่งก็อาจจะเป็นรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่พบในปราสาทพระขรรค์ ที่มีเค้าใบพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)  อีกทั้งรูปของ “ชยมังคลารถจูฑามณี” (ซึ่งอาจเป็นรูปของพระนางปรัชญาปารมิตา ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมนต์ ประเทศฝรั่งเศส) รูปของ “พระสุคต ศรีวีรศักดิ์" รูปของ “พระสุคต ศรีราชปตีศวร” และรูปของ “พระปราศยมุนีนทร” หรือพระพุทธเจ้าแห่งบูรพาทิศ (ซึ่งทั้งหมดควรเป็นรูปของพระปฏิมานาคปรกแบบไม่มีอุษณีษะอย่างที่พบที่เมืองพิมาย)
.
.
จารึกปราสาทพระขรรค์ (The Preah Khan Inscription) 
ความสูง 1.35 เมตร กว้าง 58 เซนติเมตร ทั้ง 4 ด้านปรากฏภาษาสันสกฤต 72 บรรทัด
แต่งเป็นมาตราฉันท์ (ฉันทลักษณ์) 7 แบบ รวมทั้งหมด 179 บท
.
         ในจารึกยังกล่าวถึงการถวายรูปประติมากรรมประจำอโรคยศาลา 3 องค์ (คือรูปบุคลาธิษฐานของพระไภษัชยไวฑูรยประภาสุคต พระ(โพธิสัตว์)ศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระ(โพธิสัตว์)ศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ) พระรัตนตรัยในดินแดนสามแห่ง คือ ศรีชยันตปุระ วินธยปรรวต และมรคัลปุระ และทรงถวายรูป ”พระชัยพุทธมหานาถ” (พระผู้เป็นใหญ่ ชนะเหนือทุกสรรพสิ่ง - โลภะ โทสะ โมหะ) จำนวน 23 องค์เพื่อการสักการบูชาซึ่งน่าจะเป็นรูปของพระปฏิมานาคปรกตามแบบศิลปะของพระนาคปรกประธานแห่งปราสาทบายน ให้ไปประดิษฐานไว้ในราชวิหารของเมือง รวมทั้งยังทรงให้ส่งพระ “สุคต วิมายะ” ไปยังเมืองพิมาย อีกด้วย
.
         “พระชัยพุทธมหานาถ” (Jaya Buddha mahanart) ที่กล่าวถึงในจารึก จะมีรูปลักษณะหน้าตาอย่างไร ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก ที่พอจะเข้าใจกันในปัจจุบันก็คือ ได้เคยมีการค้นพบรูปของพระนาคปรกในยุคจักรวรรดิบายนทั้งสองแบบ (แบบอุษณีษะและแบบโมทกะ) ตามหัวเมืองที่ปรากฏชื่อเมืองในจารึกปราสาทพระขรรค์ เทียบเคียงกับร่องรอยเมืองโบราณในยุคเดียวกัน ทั้งชื่อของ “ชยวัชรปุระ” ที่อาจมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี “ชยราชปุรี” มีราชวิหารเป็นศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี  “ชยสิงหปุระ” หรือปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี  “สุวรรณปุระ” ที่เมืองโบราณเนินทางพระ จังหวัดสุพรรณบุรี “ลโวทยปุระ” หรือเมืองโบราณลพบุรีและ”ศัมพูกปัฏฏนะ” เมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ในจังหวัดราชบุรี
.
.
พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่ปราสาทกำแพงแลง ศิลปะแบบบายน อาจเป็นฝีมือเลียนแบบช่างหลวง
.
.
พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ลักษณะเดียวกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” สภาพซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ศิลปะแบบบายน ฝีมือช่างหลวง ที่ยังคงเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในคูหาของปรางค์ประธาน วันมหาธาตุราชบุรี
.
.
พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่ปราสาทเมืองสิงห์
ศิลปะแบบบายน อาจเป็นฝีมือเลียนแบบช่างหลวง
.
         และเมื่อดูจากหลักฐานรูปพระนาคที่พบในทั้ง 6 เมืองโบราณในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลพบุรี แทบทั้งหมดจะเป็นพระนาคปรกในรูปแบบที่มีอุษณีษะรัดเกล้ากลีบบัวยอดแหลมแทบทั้งสิ้น ส่วนพระพุทธรูปแบบที่มียอดมวยพระเกศาแหลมแบบขนมโมทกะ พบเป็นจำนวนน้อยมาก เฉพาะในเขตเมืองพิมายออกไปทางอีสานใต้ (หรือไปพบที่ทรายฟอง ในเขตเวียงจันทน์) เท่านั้น    
.
.
“พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ (เนินทางพระ – สุพรรณบุรี)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ สวมศิราภรณ์เป็นกะบังหน้า
รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ
สภาพสมบูรณ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
เศียรรูปเคารพที่มีการกระดับศิราภรณ์เป็นกะบังหน้า มีเค้าใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พบที่ปราสาทจอมปราสาท สระโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ
รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
อาจเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโบราณใกล้เคียงหรือาจพบในตัวเมืองโบราณนครปฐมเอง
.
         และเมื่อคิดถึงคติความเชื่อ รูปลักษณะทางศิลปะและ “ความหมาย”  (Meaning) ที่เป็นเหตุผลกำกับการส่งรูปพระชัยพุทธมหานาถให้ไปเป็นพระประธานหลักในราชวิหารของเมืองต่าง ๆ กลุ่มชายขอบของจักรวรรดิบายน เชื่อมต่อกับการประดิษฐานรูปประติมากรรมพระนาคปรกขนาดใหญ่คู่จักรวรรดิที่ปราสาทบายน รวมทั้งรูปพระนาคปรกจำนวนมากที่ปราสาทบันทายกุฎี และปราสาทตาพรหม ก็น่าจะหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รูปลักษณะทางศิลปะของพระพุทธรูปนาคปรกทั้ง 23 องค์ ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับรูปศิลปะของพระประธานใหญ่แห่งจักรวรรดิ นั่นคือเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ที่มีอุษณีษะ (พระเกตุมาลา) ยอดแหลม ในแบบของฝีมือช่างหลวง ที่ถูกแกะสลักขึ้นที่เมืองพระนครธมแล้วค่อยส่งออกไปตามหัวเมืองดังชื่อที่ปรากฏในจารึก ซึ่งก็คงไม่ได้มีเพียงพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คงมีพระพุทธรูปนาคปรกขนาดเล็กใหญ่ฝีมือช่างหลวงอีกหลายแบบที่ถูกจัดส่งออกไปพร้อม ๆ กันในช่วงเวลาหนึ่ง
.
.
พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
 ฝีมือเลียนแบบโดยช่างในท้องถิ่น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะขนาดเล็กในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”
 ศิลปะแบบบายน – ลวะปุระ แบบฝีมือช่างพื้นเมือง มีลายเส้นของจีวรและชายสังฆาฏิเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายแดงขนาดเล็ก ฝีมือเลียนแบบโดยช่างในท้องถิ่น
พบที่เมืองดงละคร จังหวัดนครนายก
            แต่การจัดส่งนั้นจะถึงที่หมายปลายทางหรือไม่ หรือได้ไปประดิษฐานที่ในวิหารประจำ (สรุก)เมืองตามที่สลักจารไว้บนจารึกหรือเปล่า ตรงนี้ก็คงต้องอาศัย “จินตนาการ” มาช่วยคิดกันต่อเติมกันบ้างแล้วครับ
.
        เมื่อพระพุทธรูปนาคปรกในความหมาย “เสาหลักแห่งนครา” ในรูปแบบของพระพุทธเจ้าสูงสุดผู้ทรง“มหาพลานุภาพ” ที่ถูกเชื่อมโยงกันและกันไปจาก “ศูนย์กลาง”แห่งจักรวรรดิ ถูกแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีต ส่งออกไปยังหัวเมืองชั้นนอกของจักรวรรดิ อันได้แก่บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ที่ล้วนถูกผนวกรวมเข้ามาภายใต้การปกครองเดียวกันของราชวงศ์มหิธระปุระ รูปประติมากรรมพระนาคปรกจำนวนมากอาจถูกสร้างขึ้นที่เมืองลวปุระ เลียนแบบรูปสลักฝีมือช่างหลวงที่ส่งมาถึงแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ ให้กับบ้านเมืองสรุกย่อยในกลุ่มของแว่นแคว้น  เช่นเดียวกับกลุ่มบ้านเมืองสุวรรณปุระที่เนินทางพระก็อาจเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับรูปพระนาคปรกฝีมือช่างหลวงมาอย่างล่าช้าและมีจำนวนน้อย จึงได้แกะสลักเลียนแบบฝีมือช่างหลวง (Master) ทั้งแบบองค์ใหญ่และองค์เล็กขึ้นอีกเพื่อส่งต่อไปยังชุมชนใหญ่น้อยในการปกครองอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปสลักเลียนแบบนี้ก็อาจมีความเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง แต่กระนั้นก็ยังคงรักษารายละเอียดรูปลักษณะแบบบายน ที่มีเค้าโครงพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไว้ในคราวแรก ๆ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก ช่างท้องถิ่นก็ได้เริ่มนำเอารายละเอียดของพระพุทธรูปในศิลปะแบบเถรวาท – มหายานของวัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาผสมผสานมากขึ้น
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ศิลปะแบบหลังบายน – กลุ่มลวะปุระ (พุทธศตวรรษที่ 19) มีลายเส้นของจีวรและชายสังฆาฏิเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะทรงศิราภรณ์แบบพระทรงเครื่อง
 ศิลปะแบบหลังบายน – กลุ่มลวะปุระ(พุทธศตวรรษที่ 19)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ศิลปะแบบยุคหลังบายน – ลวะปุระ
(พุทธศตวรรษที่ 19) มีลายเส้นของจีวร และชายสังฆาฏิที่อย่างชัดเจนมากขึ้น
แต่ก็ยังคงเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เอาไว้อยู่มาก
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
          และเมื่อแก่กาลเสื่อมสลายของจักรวรรดิบายนที่มีอายุรวมแล้วยังไม่ถึง 70 ปี ขนาดรูปพระปฏิมานาคปรกแห่งจักรวรรดิในเขตชั้นในทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเกือบทั้งหมดก็ยังถูกทุบทำลาย รื้อถอนเคลื่อนย้ายแล้วยังนำไปฝังทิ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายราชโอการแล้ว รูปเคารพประธานแห่งนคราที่แสดงอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในความหมายของบ้านเมืองที่อยู่ภาย “ใต้” การปกครองเดียวกัน จะไปเหลืออะไร นอกจากจะประสบชะตากรรมเดี่ยวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือถูกทุบทำลาย เคลื่อนย้ายออกจากศาสนสถานศูนย์กลางของบ้านเมืองแว่นแคว้น ไม่แตกต่างไปจากโศกนาฏกรรมที่เมืองพระนครธม
.
.
กลุ่มพระพุทธรูปนาคปรกในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ
ซึ่งอาจเป็นรูปประติมากรรมเลียนแบบของแว่นแคว้นที่เนินทางพระ – ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง ปัจจุบันอยู่ที่วัดบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม
.
.
พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายแดงในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ศิลปะแบบบายน – สุวรรณปุระ
เป็นรูปประติมากรรมเลียนแบบช่างหลวงของกลุ่มแว่นแคว้นที่เนินทางพระ – ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง
 ปัจจุบันอยู่ที่วัดปู่บัว จังหวัดสุพรรณบุรี
.
.
“พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่เนินทางพระ ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ
 (เนินทางพระ – สุพรรณบุรี) ฝีมือช่างหลวง
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดวิมลโภคาราม (วัดสามชุก) จังหวัดสุพรรณบุรี
.
         แต่การเคลื่อนย้ายและทุบทำลายในหัวเมืองตะวันตกที่แยกตัวปลดแอกออกจากจักรวรรดิที่เสื่อมสลาย ไม่ได้มีความรุนแรงแบบขุดรากถอนโคนเช่นที่พบตามปราสาทราชวิหารในเขตอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  รูปประติมากรรมพระนาคปรกจำนวนมาก ถูกเคลื่อนย้ายจากศาสนสถานในยุคบายนนำมาใช้ประโยชน์ต่อโดยการดัดแปลงรูปลักษณ์ทางศิลปะตามแบบช่างหลวงของแว่นแคว้น หลายรูปถูกลงรักปิดทอง หลายรูปก็ถูกเพียรแกะสลักขึ้นมาใหม่ โดยยังคงร่องรอยของพระพักตร์แบบพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ดูเคร่งขรึม แสดงความมีเมตตากรุณา และ “รอยยิ้ม”แบบบายนที่มุมปากรวมทั้งยังคงรักษาพุทธลักษณะสำคัญสืบทอดต่อมาจาก “ต้นแบบ” ของพระปฏิมานาคปรกแบบบายนแต่ใส่รายละเอียดของพระพุทธรูปแบบเถรวาทพุกามอันเป็นคติความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อแว่นแคว้นบ้านเมืองในภูมิภาคเพิ่มเติมเข้าไปอีก
.
.
.
.
เศียรพระพุทธรูปแบบบายนที่มีอุษณีษะ(พระเกตุมาลา)มวยผมรูปกลีบบัว
ลักษณะคล้ายเป็นการแกะสลักเลียนแบบฝีมือช่างหลวง
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
        จึงน่าจะเป็นที่แน่ชัดในระดับหนึ่งว่า รูปของ “พระชัยพุทธมหานาถ” หรือ “พระผู้ชนะทุกสรรพสิ่ง” ที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์นั้น ก็คือรูปประติมากรรม “พระพุทธรูปนาคปรกในรูปแบบที่มีอุษณีษะเป็นรัดเกล้ารูปกลีบบัวเป็นชั้นซ้อน” ไม่มีเครื่องประดับแบบพระทรงเครื่องยกเว้นกุณฑลที่ปลายพระกรรณ มีพระพักตร์ที่เพียงจะคล้ายคลึงกับรูปหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีพุทธศิลป์แบบเดียวหรือใกล้เคียงกันกับ“พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่” องค์ประธานหลักแห่งมหาปราสาทบายน พระพุทธเจ้าสูงสุดผู้ทรงอำนาจ พลานุภาพคู่จักรวรรดิบายน
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกที่วัดพรามหณ์ไปรลอเวงในปัจจุบัน
. 
         ส่วนรูปประติมากรรมพระนาคปรก ในรูปแบบที่มีมวยพระเกศาเป็นแบบก้นหอยใหญ่ ยอดพระเศียรไม่มีอุษณีษะ เป็นเพียงยอดปลายแหลมคล้ายรูปขนมโมทกะ และมีเค้าโครงของใบพระพักตร์เหมือนกับพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่อยู่ในรูปของพระพุทธรูปปางนาคปรกนั้น ก็ควรจะเป็นรูปประติมากรรมของ “พระสุคต” ตามพระนามที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ สอดรับกับพระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในเมื่อหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตบท” ที่มีความหมายถึง “พระผู้บรรลุ(สู่ธรรม)อย่างสูงสุด – อย่างถ่องแท้” อันอาจเป็นรูปลักษณ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในฐานะของ “พระมานุษิพุทธะ” หรือ “มนุษย์ผู้ผู้บรรลุสู่ธรรมเฉกเช่นเดียวกับพระศากยมุนี” หรืออาจแสดงว่าพระองค์นั่นเองนั่นแหละก็คือพระศากยมุนีในเวลานั้น
.
.
ใบพระพักตร์ของ “พระสุคต” ที่พิพิธภัณฑสถานพระนคร
ก็มีเค้าหน้าเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
.
.
“พระสุคต” แห่งเมืองวิมายุปุระ
 องค์เดียวกับชื่อที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ?
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
.
.
พระนาคปรก ที่มีช่องว่างระหว่างพระวรกายและพระเพลาทั้งสองด้าน
(ตามปกติด้านซ้ายจะปิดทึบแทนความหมายของจีวรที่คลุมอยู่) สวมกางเกงขาสั้น
อาจเป็นรูป “พระสุคต” ตามชื่อที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
         ประติมากรรมรูปเคารพที่มีเค้าหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปเคารพทางคติความเชื่อและรูปเหมือนจริง รูปเคารพแบบงแรกคือรูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ที่มีความหมายว่าพระองค์ก็เป็นดั่งพระโพธิสัตว์ “สมันตมุข” ผู้โปรดช่วยเหลือแก่มวลมนุษย์ทั้งปวง รูปประติมากรรม “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี”  มีความหมายว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงพลานุภาพ เหนือทวยเทพในสกลจักรวาลและสรรพสัตว์ทั้งมวล
.
.
ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี 8 กร
ที่อาคารโคปุระด้านหน้าของมหาปราสาทนครวัด ก็ถูกคัดแปลงให้กลายเป็นพระวิษณุ 8 กร
.
          รูปแบบที่สองที่มีเพียง “เค้าพระพักตร์” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เพียง “คล้ายคลึง” คือรูปประติมากรรมของพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดน้อยใหญ่ ตามแบบที่มีอุษณีษะหรือพระเกตุมาลา ในความหมายว่า พระองค์คือส่วนหนึ่งในภาคของพระศากยมุนีผู้เป็นใหญ่และทรงพลานุภาพในทางธรรม
.
.
ใบหน้าของพระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกับ "พระชัยพุทธมหานาถ"
 ได้จากปราสาทบันทายกุฎี
ที่มีเค้าหน้าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
.
.
พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” ขนาดเล็ก ศิลปะแบบบายน
มีลายเส้นของจีวร สงบและชายสังฆาฏิ
.
.
.
ใบหน้าของพระพุทธปฏิมากรนาคปรก จากปราสาทบันทายกุฎี
 ที่มีเค้าหน้าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
จะแตกต่าง เหมือนหรือไม่เหมือนก็คงอยู่ที่ฝีมือช่างสลักหิน
.
         ส่วนรูปแบบที่สามเป็นรูปเคารพที่มีความคล้ายคลึงกับพระศากยมุนีแบบเถรวาท แต่ไม่ “อาจหาญ”กล้าพอที่จะใส่มวยพระเกศาหรืออุษณีษะไว้ที่กลางกระหม่อม ตามแบบ “มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ” จึงทำเพียงรูป “เหมือน” ของพระพักตร์ ในรูปแบบของพระพุทธรูปปลายมวยผมแบบขนมโมทกะ นั่งขัดสมาธิราบในท่าธยานะมุทรา (ปางสมาธิ) ประทับบนบัลลังก์ขนดนาค ชั้น อย่างที่พบจำนวนมากในเขตชั้นใน และที่ปราสาทหินเมืองพิมาย และลพบุรี  รวมทั้งรูปที่ไม่มีนาคปรกอย่างที่พบที่เมืองทรายฟอง แขวงนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตามที่ปรากฏพระนามในจารึกว่า “พระสุคต” ในจารึกของปราสาทพระขรรค์ รูปเคารพนี้น่าจะมีความหมายถึง  “พระองค์ทรงบรรลุสู่พระนิพพาน บรรลุสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า” ดังพระนาม “มหาบรมสุคตบท” ภายหลังการสวรรคตของพระองค์
.
.
 “พระสุคต” ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ
 พบที่เมืองทรายฟอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ระเบียงคดของวัดพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ 
.
.
ใบพระพักตร์ของ “พระสุคต” ที่เวียงจันทน์มีเค้าหน้าเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างชัดเจน
.
.
รูปจำลองเต็มองค์ของ “พระสุคต” แห่งวิษัยวิมายุปุระ (พิมาย) 
ในคูหาครรภคฤหะของปราสาทประธาน ปราสาทหินพิมาย
.
         และแบบสุดท้าย เป็น “รูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แบบลอยตัวโดยตรง” ในท่าประทับนั่งสมาธิ เอียงตัวก้มพระเศียรลงมาทางด้านหน้าเล็กน้อย พระเกศาหวีเรียบผูกเป็นมวยรัดเกล้าอย่างนักบวช นุ่งกางเกงขาสั้นรัดเข็มขัด พระเพลา (แขน) และพระหัตถ์ยกวางซ้อนกันอยู่ในมุทธาสมาธิ บางรูปสลักก็อาจอยู่ในท่าของ “อัญชลีมุทรา” (พนมมือ) ในระดับพระอุระ (อก) เพื่อถวายการเคารพพระชัยพุทธมหานาถ และบางรูปก็อาจอยู่ในท่าของการยกพระคัมภีร์ขึ้นอ่านหรือสวดมนตรา ในความหมายของการปฏิบัติโพธิญาณบารมี ซึ่งทั้งแบบรูปพนมมือและแบบรูปยกคัมภีร์ขึ้นอ่านนั้น ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของนักวิชาการสายฝรั่งเศส ที่ยังคงไม่พบหลักฐานของส่วนแขนที่ (ถูกทุบทำลาย) หักหายไปอย่างชัดเจนนักในในปัจจุบันครับ
.
.
ประติมากรรมรูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พบที่โกรลโรมัส (Krol Romeas - คอกแรด) อาคารแนวรูปวงกลมใกล้ประตูทางทิศเหนือของเมืองพระนครธม ในสภาพที่ยังแกะสลักไม่เสร็จและถูกทุบทำลาย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
.
ภาพจินตนาการ – สันนิษฐาน ตามแนวทางการศึกษาของนักวิชาการสายฝรั่งเศส
(วาดโดย Maurice Fiévet ในปี 1950)
ที่เชื่อว่า แขนที่หักหายไปของประติมากรรมรูปสลักเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ควรยกขึ้นในท่า “พนมหัตถ์” เพื่อนำรูปเคารพไปตั้งหันหน้าเข้านมัสการรูปพระชัยพุทธมหานาถ ประธานของปราสาท
.
.
ภาพจินตนาการ – สันนิษฐาน ประติมากรรมรูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
หากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะทรงท่องสวดมนตรา
 พระเพลาทั้งสองจะยกขึ้นถือคัมภีร์ปุราณะไว้ในพระหัตถ์
.
          รูปแบบประติมากรรมที่สองจนถึงรูปแบบที่สี่ในท่าประทับนั่งไขว้เท้า(ปางสมาธิ) จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันตั้งแต่ส่วนของพระอุระลงมา คือจะไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงขาสั้น มีเข็มขัดรัดโดยรอบ  หรือบางรูปก็จะมีลักษณะห่มจีวรเรียบไม่มีริ้ว ดูคล้ายกับว่าไม่มีอะไรปกคลุม ช่องระหว่างพระวรกายและพระพาหาด้านขวาเจาะทะลุ ส่วนช่องแขนทางด้านซ้าย ทำเป็นช่องทึบคล้ายกับมีชายผ้าจีวรปกคลุมลงมาด้านหลัง  
.
        ส่วนพระอูรุ (ต้นขา) ไปจนถึงปลายพระบาท ทำเลียนแบบกล้ามเนื้อมนุษย์ คล้ายคลึงกับพระวรกายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ดูอวบอั๋น พระชงฆ์ (แข้ง) ทำเป็นสันคมตามแนวสันกระดูกหน้าแข้ง ที่พระชานุ (หัวเข่า) ก็ทำเลียนแบบกระดูกสะบ้ากลมมีกล้ามเนื้อล้อมรอบคล้ายรูปดอกไม้ ดังเช่นรูปสลักที่แตกหักที่พบที่โกรลโรมัส (คอกแรด) พิมาย พระขรรค์แห่งกำปงสวาย และชิ้นส่วนหน้าตักที่พบในปราสาทวัดพระพายหลวง ทางทิศเหนือของเมืองโบราณสุโขทัย เป็นรูปเคารพเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 
.
.
ชิ้นส่วนของประติมากรรมรูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
 ประทับนั่งในปางสมาธิ (ธยานะมุทรา) นุ่งกางแกงขาสั้น รัดเข็มขัด
แข้งคมและมีลูกสะบ้าที่พระชานุเหมือนรูปดอกไม้
พบที่ปราสาทวัดพระพายหลวงปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
.
. 
ประติมากรรมรูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รูปล่าสุดที่พบโดยบังเอิญ
ส่วนของพระวรกายพบในตัวเมืองโบราณนครธมในสภาพถูกทุบทำลาย
และส่วนพระเศียรก็พบมาตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสและนำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ
เมื่อนำมาต่อก็เข้ากันได้พอดี
เป็นรูปแสดงท่านั่งปางสมาธิแบบเดียวกับชิ้นส่วนหน้าตักที่พบที่สุโขทัยอย่างชัดเจน
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Angkor National Museum เมืองเสียมเรียบ
.
.
มณฑปจัตุรมุขประดิษฐานรูปสลักของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ที่สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบันที่จังหวัดเกาะกง
นิยมทำเป็นท่านั่งปางสมาธิ (ธยานะมุทรา) ตามหลักฐานที่พบใหม่ไม่นานนี้
.
         จากวันที่รุ่งเรืองของจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งของอุษาคเนย์ สู่กาลเวลาที่เสื่อมสลายทั้งจากอำนาจภายในที่ยอมลดขนาดของจักรวรรดิแห่งพระโพธิสัตว์กลับมาสู่ความเป็นอาณาจักรแห่งทวยเทพ เปิดโอกาสให้เหล่าพระญาติพระวงศ์และผู้ปกครองแว่นแคว้นแดนไกลนอกแดนกัมพุชเทศะแยกตัวออกไปจนหมดสิ้น  และโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญผ่านเรื่องราวการทำลายล้างพระพุทธปฏิมากรนาคปรกศิลปะแห่งบายน
.
         อำนาจแลพลานุภาพมากมายทั้งทางโลกและทางธรรมที่เพียรถูก “สมมุติ” สร้างขึ้นในครั้งรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่เพียงภายหลังจากการสวรรคตในเวลาไม่นาน ทุกสิ่งทุกอย่างก็คงเหลือแต่เพียง “ความว่างเปล่า”
.
       รูปลักษณ์ของวัตถุและคำลวงที่ช่วยสร้างเสริมให้ดูยิ่งใหญ่ เป็นเสมือน “หัวโขนแห่งอคติ” ที่ทุกคนแสวงหาและภาคภูมิ ในวันหนึ่งของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามก็ย่อมจะเดินทางจากลาไปสู่กาลแห่งความเสื่อมสลายและดับสูญ
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่
ประดิษฐานในมหาปราสาทนครวัด ศิลปะในยุคหลังสมัยบายน ?
ถูกทุบทำลายที่พระพักตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 หรือในยุคของ "เขมรแดง" ?
.
        ที่อาจจะคงเหลืออยู่บ้าง ก็คงเพียงว่า “มนุษย์” ผู้นั้นได้เคยสร้างสิ่งใดไว้ให้กับโลก ได้สมตามตำแหน่งของมายา “หัวโขน” ที่หลงใหลได้ปลื้ม ยึดติดเมื่อครั้งตอนอยู่มีชีวิตอยู่บนโลกกันอย่างไรบ้าง
.
         และเมื่อสิ้นสุด “กายสมมุติ” ลงไปสู่โลกนิรันดร์ที่ปลายภพ ผู้คนในรุ่นต่อไปจะเล่าขานเรื่องราวของมนุษย์ที่เคยมี “ชีวิต” อยู่ผู้นั้นอย่างไร
.
         ดังเช่นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เคยถูกสาปแช่งและทำลายล้างรูปเคารพอย่างรุนแรงในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  ในวันนี้ ผู้คนจะเลือก “จดจำ” และ “เล่าขาน” สิ่งใดของเรื่องราวในอดีต
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกหินทรายขนาดใหญ่ ของปราสาทตาพรหม
ในสภาพถูกทุบทำลายที่ส่วนพระเศียรและพังพานนาค
.
         แต่ที่แน่ ๆ ในวันนี้ หน่วยงาน JST โดยความสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นและชาวกัมพูชา กำลังเลือกแนวทางที่จะนำพระพุทธปฏิมากรประธานแห่งปราสาทบายน กลับขึ้นไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งเดิมในวันที่เคยรุ่งเรืองอีกครั้ง
.
.
มหาปราสาทบายน ปราสาทที่สร้างขึ้นตามแผนผังของ “พุทธมณฑล” (Buddha Mandala)
กำลังได้รับารบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ภายหลังยุค EFEO ของฝรั่งเศส
โดย JST ที่มีรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเงินทุน
.
         แต่นั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักที่จะต้องยกรูปสลักความสูงเกินกว่า 4 เมตรที่ผ่านการซ่อมแซมประกอบชิ้นส่วนที่แตกหักทั้งองค์ ผ่านช่องประตูขึ้นไปด้านบนของปราสาทประธาน
.
.
บรรยากาศภายในมุขคูหาด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ
ปราสาทประธานของปราสาทบายนในยุคปัจจุบัน
.
         หรือจะใช้แนวทางสลักรูปประติมากรรมหินเลียนแบบรูปศิลปะของเดิมขึ้นไปติดตั้งใหม่ ซึ่งมันอาจจะง่ายกว่า ?
.
         ในเร็ววันนี้ เราก็คงมีโอกาสได้เห็นกันแหละครับ ….