วันสารทจีน



ตามปฎิทินจีนโบราณ ทุกวันที่ 15 เดือน 7 เป็นวันหรือเทศกาลสำคัญที่ตกทอดกันมาชาวไทยอย่างเราจะรู้จักกันว่า "วันสารทจีน" ซึ่งชาวจีนลัทธิเต๋าเรียกกันว่า " 中元节 จงเอวียน เจี๋ย" หากเป็นชาวจีนที่นับถือพุทธจะเรียกว่า 盂兰盆节 อวี๋หลัน เผินเจี๋ย" และชาวบ้านชาวจีนจะเรียกกันติดปากว่าวัน "鬼节 กุ่ย เจี๋ย (วันผี)"
วันนี้(15/08/2008)ด้วยความสงสัยว่าในปัจจุบันชาวจีนเรียกวัน "สารทจีน"กันติดปากว่าอะไรกันบ้างน่ะ จึงได้สอบถามเพื่อนชาวจีนจำนวน 10 คนว่าวันนี้ (วันสารทจีน)ชาวจีนเรียกว่าอะไร คำตอบที่พบทำให้ต้องตกใจหงายหลังเพราะดันมีคำตอบที่มากกว่าที่กล่าวไว้ในข้างต้นค่ะ บางคนเค้าก็บอกกันว่าเป็นวัน "七月节 ชีเอวี้ย เจี๋ย " บางคนก็บอกว่าเป็นวัน "七姐诞 ชี เจี่ยต้าน" บ้างก็ว่า "七月半鬼节 ชี เอวี้ยป้านกุ่ยเจี๋ย" ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปมาว่า ส่วนใหญ่ชาวจีนจะเรียกวันสารทจีนโดยรู้กันทั่วประเทศว่า "鬼节 กุ่ย เจี๋ย (วันผี)" ซึ่งกล่าวกันได้ว่าเป็นภาษาพูด หากเป็นทางการจะเรียกว่าวัน" 中元节 จงเอวียน เจี๋ย" แต่ที่มีคำเรียกกันอย่างมากมายอาจเนื่องจากแต่ละเมืองอาจมีภาษาเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างหรือมีเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมาแตกต่างกันไปนั้นเอง


วันสารทจีน ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ โดยหญิงที่แต่งงานแล้วไม่สามารถที่จะกลับมาไหว้บรรพบุรุษของตนเองนอกเสียจากมีพ่อหรือแม่ของตนเสียชีวิตไปแล้วจึงสามารถกลับมาบ้านตนเองเพื่อกราบไหว้ได้ แต่หากพ่อหรือแม่ของฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้วยังไม่เสียชีวิต ฝ่ายหญิงก็ต้องไหว้บรรพบุรุษของบ้านสามีนั้นเอง (ข้อมูลตรงนี้ต้องขอขอบคุณเพื่อนชาวจีนของพี่จิ๋วชื่อสวี อ้ายจวี๋ ที่ให้ข้อมูลแนะนำมา)

แหล่งที่มาจากบางที่กล่าวไว้ว่า เรื่องวันสารทจีนนี้ได้ไปปะปนกับเรื่องของพระโมคคัลลานะ ที่ช่วยมารดาให้พ้นจากนรก จึงมีความเชื่อว่าเป็นเวลาที่ประตูนรกนั้นได้ถูกเปิด เพื่อให้บรรดาภูตผีออกเร่ร่อนตามสถานที่ต่างๆ ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นมาอีกพิธีหนึ่ง คือ ในตอนเช้าจะเซ่นไหว้เจ้าที่ และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายจะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือบรรพบุรุษต้นตระกูลของชาวจีน ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ไม่มีลูกหลานสืบสกุล แต่ในบางแห่งก็นิยมไหว้ในตอนเช้าด้วยเช่นกัน ประเพณีนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

ในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ 8 ครั้ง การไหว้สารทจีนเป็นการไหว้ครั้งที่ 5 ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
 


การไหว้

การไหว้ในเทศกาลสารทจีนต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ชุด

ชุดแรก สำหรับไหว้เจ้าที่

จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมไหว้ก็ใช้ ถ้วยฟู กุ้ยไช่ ซึ่งต้องมีสีแดงแต้มเป็นจุดเอาไว้ ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมี ซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีน คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงิน กระดาษทอง


ชุดที่สอง สำหรับไหว้บรรพบุรุษ

คล้ายของไหว้เจ้าที่ พร้อมด้วยกับข้าวที่ บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกง หรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชา จัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ถ้าเป็นคนมีฐานะก็นิยมไหว้โหงวแซ คือมี เป็ด ไก่ หมู ตับ ปลา พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจัดที่บรรพบุรุษชอบ หรือจะจัดแบบที่ลูกหลานคนที่ได้กินจริงชอบ

       แต่ตามธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ ต้องมีของน้ำสำหรับซดให้คล่องคอ จะเป็นน้ำแกงก็ได้ หรือเป็นขนม น้ำใส ๆ เช่น อี๊ (คือขนมบัวลอย) ก็ได้ วางเคียงกับชามข้าวสวยและน้ำชา ของหวานก็มี ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง

 
ชุดที่สาม สำหรับไหว้วิญญาณพเนจร

ผีไม่มีญาติ ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ เรียกว่า ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ หรือบางแห่งเรียกว่า ฮ้อเฮียตี๋

 
จะต้องไหว้นอกบ้าน ของไหว้มีทั้งของคาวหวาน กับผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า อ่วงแซจิว จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้

 
พิธีไหว้

การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้านนิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้ สำหรับการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในเทศกาลสารทจีนนี้ ที่เมืองจีนไม่มี ขนมที่ใช้ไหว้ที่เมืองจีนจะเป็นขนม 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” หรือ เรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี

 
ปัง คือ ขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำจากน้ำตาล

เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่

หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า ทำจากแป้งข้าวเจ้า ข้างในไส้เต้าซา

มั่ว คือ ขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดง ตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง

กี คือ ขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ 
 
 
ตำนานวันสารทจีน ตำนานที่ 1

ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เซ็งฮีไต๋ตี๋ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง


ตำนานที่ 2
มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ


ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ท้าวมัจจุราช) ว่าตนของรับโทษแทนมารดาแต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋วหลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้


นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังมาใกล้ที่พักของตน  

เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน ในการไหว้เทศกาลสารทจีนแทน

ปัจจุบันชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับวันสารทจีน เนื่องจากเป็นวันที่แสดงถึงความเคารพและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษไม่มีวันเสื่อมคลาย**

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น