พระธาตุพนม/เหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย


พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า กปณบรรพตหรือ กปณคีรี ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ 






ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ
พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์ เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว
เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ
ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา
จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
พระธาตุพนม ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้ การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. 2157 ครั้งที่สี่เมื่อปี พ.ศ. 2233 ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2349 ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2444 เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ และต่อจากนั้นมาก็มีการบูรณะทั่วไป เช่น บริเวณโดยรอบพระธาตุ
ได้มีพิธียกฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐานไว้ที่ยอดองค์พระธาตุ และนำฉัตรเก่ามาเก็บไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีพุทธศาสนิกชนจากดินแดนสองริมฝั่งโขงทั้ง ไทยและลาว หลั่งไหลมาร่วมมงคลสันนิบาต และนมัสการองค์พระธาตุเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือน



เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลารอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น วันที่ 11 สิงหาคม ตอนเช้าฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่ กึ่งกลางของด้านตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่นล่วงมาถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุส่วนฐานนั้น อิฐร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่องเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายในแท่งหินทำให้เข้าใจว่า ส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์





นักโบราณคดี ได้นำอิฐดินไปตรวจพิสูจน์อายุความเก่าแก่ตามหลักวิทยาศาสตร์ ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าองค์พระธาตุพนม สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 อยู่ในสมัยเจนละ หรือขอมระยะแรก ภายในองค์พระธาตุพนมบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า) และสิ่งของมีค่าจำนวนมาก โดยมีการบูรณปฏิสัง ขรณ์ถึง 5 ครั้ง
ในห้วงการบูรณะพระธาตุพนม ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล "เหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย" คาดว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2483-2484 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมให้สูงสง่างาม
"เหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย" สร้างขึ้นเพื่อมอบให้ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมีช่างจากโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบ และ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ตรวจและแก้ไขแบบ
เหรียญดังกล่าว เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปจำลองพระธาตุพนมองค์เก่าทรงระฆังคว่ำ มีเปลวรัศมีเป็นแฉกสองข้าง นับได้ข้างละ 11 แฉก ใต้แฉกสองข้างเป็นรูปคบเพลิงคล้ายดอกบัวตูม ขอบเหรียญเป็นเส้นสันและมีเม็ดไข่ปลาโดยรอบ
ด้านหลังเหรียญมีอักษรเรียงกัน 3 บรรทัด ตัวหนังสือนูนระบุรุ่น "พระธาตุพนมช่วยไทย" และมีตัวกระหนกปิดบนล่าง ขอบเหรียญเหมือนกับด้านหน้า เหรียญรุ่นดังกล่าว มีความแตกต่างจากเหรียญพระธาตุพนมรุ่นสมโภช พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นเหรียญรูปทรง 8 เหลี่ยม สังเกตได้จากเหรียญรุ่นนี้ เปลวรัศมีเส้นด้านล่างสุดจะห่างจากคบเพลิง
เหรียญรุ่นนี้ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นันตโร) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ผู้บูรณะองค์พระธาตุพนมในปี พ.ศ.2444 เป็นผู้ปลุกเสก พร้อมด้วยพระเถระอีกหลายรูป

เหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย
เหรียญรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้น ในระหว่างที่ไทยมีข้อพิพาทดินแดนกับฝรั่งเศส กล่าวกันว่าวัตถุมงคลส่วนหนึ่งแจกให้ทหารหาญไว้ปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดนสองฝั่งโขง เหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย มีพุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุด และมีประสบการณ์มาแล้วมากมาย สนนราคาเช่าหาเหรียญสภาพสวย ขึ้นไปถึงหลักหมื่นต้นๆ เป็นเหรียญเก่าเก็บที่พบเห็นค่อนข้างยากไปแล้ว
งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3
คำนมัสการพระธาตุพนมมีดังนี้
"กปณคิริสฺมิ ปพฺพเต มหากสฺสเปน ฐาปิตํ พุทฺธอุรงฺคธาตุ สิรสา นมามิ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้า"

























แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น